Tuesday, March 27, 2007

ครูแปรง อมรกฤต ประมวญ


.....เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เดินทางมาศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัย รามคำแหง และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว แผนกมวยไทย ฝึกซ้อม และขึ้นชกมวย ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย อยู่พักหนึ่ง จึงย้ายมาเรียนที่ แผนก อาวุธไทย “สำนักดาบเจ้าราม” ซึ่งรุ่นพี่ในชมรมฯช่วงนั้น จะมีหลายคนมาจากหลายสำนัก รวมตัวกันในรามฯ เพื่อก่อตั้งเป็น แผนกอาวุธไทย

.....ครูแปรง จึงได้เรียนวิชา จากหลายสำนัก เช่น ดาบพุทไธสวรรค์, ดาบผดุงสิทธิ์,
ดาบพละ, ดาบพรานนก, ดาบอาทมาต, ดาบอาทมาต เท้าช้าง ปัตตานี, มีดสั้นทอง นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๕ จึงจบหลักสูตร หลังจากนั้น ครูแปรง ยังได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากครูอีกหลายท่าน อาทิเช่น ครูพัน ยารนะ ครูดาบสะบัดชัย, ดาบสายกรมหลวงชุมพร จาก กี คลองตัน, ดาบบ้านไชว อยุธยา, ดาบสายอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ดาบและมวยในสายอาจารย์กิมเส็ง ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ปู่ สายมวยทวีสิทธิ์ ในเวลาต่อมาอีกด้วย

.....ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ระหว่างที่ ครูแปรง ทำการสอนวิชาดาบ ที่ แผนกอาวุธไทย ในฐานะรุ่นพี่อยู่นั้น ได้มีรุ่นน้องคนหนึ่ง ชื่อ ปาน ได้ขอซ้อมมวยกับ ครูแปรง ด้วยทราบว่า ครูแปรง เป็นนักมวยเวทีมาก่อน และระหว่างดูเชิงกันอยู่นั้น รุ่นน้องคนนั้น ได้ตั้งท่าทางมวยแปลกๆ ซึ่งทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องหลาย ๆ คนสนใจ สอบได้ความว่า เป็นวิชามวยคาดเชือก สายมวยไชยา ครูแปรงจึงได้ติดตามไปขอพบ และทดสอบวิชามวยนั้น ด้วยตัวท่านเอง จนแน่ใจว่า เป็นวิชามวยคาดเชือกจริง จึงเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ ศึกษาวิชามวยจากครูท่านนั้น ซึ่งก็คือ ครูทอง ครูมวยไชยา แห่งคลองทับช้าง (ทองหล่อ ยาและ)

.....ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๙ ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะเผยแพร่ศิลปะมวยไชยา และวิชากระบี่กระบอง อาวุธไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ครูทอง ได้ก่อตั้ง “ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ และอาวุธไทย ตำหรับพิชัยยุทธ์” และได้ ศิษย์อาวุธไทย “สำนักดาบเจ้าราม” คอยให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องงานสาธิต แสดงในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเผยแพร่ทาง นิตยสาร และโทรทัศน์ มาโดยตลอด
.....พ.ศ. ๒๕๒๗ ครูแปรง ได้รับการชักชวนจาก ครูทอง ให้ทำงานร่วมกับท่านที่ กรมโยธาฯ ผ่านฟ้า ทำให้ ครูแปรง ได้มีโอกาสติดตาม ครูทอง ช่วยงานสอนมวยไชยา ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งได้ร่วมกับ ครูทอง ปรับปรุงหลักสูตรการสอน มวยไชยา ให้เป็นระบบ ตามแนวคิดของ ครูทอง ที่ต้องการให้ศิลปะมวยคาดเชือก สายไชยา เป็นที่สนใจในวงกว้าง สามารถเรียนได้ทั้ง ผู้หญิง และเด็ก ในรูปของ “การบริหารร่างกาย เพื่อพาหุยุทธ์” โดยยึดหลักวิชาการ ตามแบบโบราณ ไว้อย่างเคร่งครัด
.....พ.ศ. ๒๕๓๙ ครูทอง เสียชีวิต ทำให้การดำเนินงานด้านเผยแพร่ มวยไชยา หยุดชะงักไปชั่วคราว ครูแปรง ขณะนั้นประกอบอาชีพ ทนายความ ได้ละงานประจำ มาดำเนินกิจกรรมสืบต่อ เหตุเพราะ ครูทอง ได้เคยพูดไว้เสมอว่า “มีอยู่สองคนที่ได้ วิชาจากครูมากที่สุด คือ แปรง กับ โย่ง” หรือ “ถ้าครูไม่อยู่ ใครจะเรียนมวย ให้ไปหาแปรง” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า ๒๐ ปี ครูแปรง เองก็ได้ตั้งใจพัฒนาทักษะทางร่างกาย ฝึกฝน สืบค้น ตีความ จนสามารถเข้าถึง เคล็ดวิชาในมวยไชยา ทำให้ศิษย์มวยไชยา และผู้สนใจ ต่างมุ่งมาเรียนกับ ครูแปรง เป็นหลัก
.....ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ครูแปรง และรุ่นพี่รุ่นน้องในชมรมฯ ได้ร่วมมือกันทำงานเผยแพร่อย่างจริงจัง จึงทำให้มีผู้รู้จัก และสนใจศึกษา ศิลปะมวยไชยา มากขึ้น คณะศิษย์มวยไชยา จึงได้ประชุมร่วมกัน เพื่อก่อตั้ง “มูลนิธิมวยไทยไชยา” พร้อมดำเนินการจดทะเบียนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ โดยมี ครูแปรง อมรกฤต ประมวญ ดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิฯ ดำเนินงานเผยแพร่ และ อนุรักษ์ศิลปะมวยไชยา และอาวุธไทย พิชัยยุทธ์ ในรูปองค์กรต่อไป.

1 comment:

Unknown said...

ลูกชายอายุ 14 ปี อยากเรียนมวยไชยา ยังไม่มีพื้นฐานเลยค่ะ บ้านอยู่สาทร

มีสอนที่ไหนคะ