Tuesday, March 27, 2007

ณัลล์ชย วีถี

ตลอดเส้นทาง แห่งชัยชนะของนักรบ นักมวย นักสู้ชาวสยาม หลายชั่วอายุคน นับเนื่องแต่มีการรวบรวมชนเผ่าไท ให้เป็นปึกแผ่น ลงหลักปักฐานแน่น บนพื้นแผ่นดิน สยาม นี้ ที่มีบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษาและเชิดชู ถึงความมุ่งมั่น พากเพียร ความกล้าหาญ และการเสียสละของบรรพชนไทยเหล่านั้นแล้ว

ขอกล่าวสรรเสริญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระนเรศวรมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช และพระมหากษัตริย์ไทย ทุกๆพระองค์ ตลอดจนถึงสามัญชน วีรชน วีรสตรีผู้กล้าอีกหลายท่านที่ได้เคยสร้างวีรกรรม อันยิ่งใหญ่ ทำคุณประโยชน์ ให้กับชาติ บ้านเมือง เป็นที่เคารพนับถือยิ่งต่อชนทั้งหลาย ทั้งวีระชนนิรนาม และวีระชนระบือนาม อันจะยกตัวอย่าง ได้แก่

สามัญชนผู้หาญกล้า นายทองดี นักมวยฟันขาวแห่งบ้านหันคา อำเภอทุ่งยั้ง เมืองพิชัย ผู้มีฝีมือ มวยและดาบ เป็นเลิศ เคยอาสาสู้ศึกปกป้องแผ่นดิน จนได้สมญาว่า พระยาพิชัยดาบหัก ทหารหาญกล้าคู่พระทัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๑๖)

และนายขนมต้ม ผู้ที่ได้ใช้ วิชามวย สร้างชื่อไว้หน้าประวัติศาสตร์ของสองชาติ ผู้เป็นเสมือน “บิดาแห่งมวยไทย” ในวันที่ ๑๗ มีนาคมของทุกปีถือเป็น “วันมวยไทย” ตามตำนานการชนะปรปักษ์ของท่าน(๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๗)

หากกล่าวถึง วงการมวยไทย การชุมนุมนักมวย ครั้งสำคัญ ครั้งหนึ่งของแผ่นดินสยามนี้ คือ การแข่งขันชกมวย ณ สนามมวยสวนกุหลาบ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๖๕) จัดขึ้นเพื่อหาเงินซื้อปืนให้กับกองเสือป่า ใน สมัยรัชกาลที่ ๖ เหตุการณ์นี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง การชกมวยไทยแบบอาชีพขึ้น จากกองมวยตามหัวเมือง หมู่บ้าน สู่นักมวยในจวนท่าน โดยมี สมุหเทศาภิบาล และข้าหลวงตามหัวเมืองต่างๆ เป็นผู้จัดหานักมวยที่มีฝีมือดี คัดเลือกตัวส่งเข้าสู่ การเข้าแข่งขันชกมวย ในพระมหานคร

นักมวยมากหน้าหลายตา ต่างชั้นต่างระดับฝีมือ ได้เดินทางรอนแรม มาจนสุดเส้นทางสายการต่อสู้ มีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ บ้างก็ปักหลักอยู่ในเมืองหลวงรับราชการ บ้างก็กลับบ้านเดิมทำไร่ไถ่นา ในบรรดานักมวยที่เข้ามาแสวงโชคและชื่อเสียง ในครั้งครานั้น ต่างได้แสดงรูปลักษณ์ลีลา ความสามารถในเชิงมวย ซึ่งเป็นแบบฉบับ เฉพาะหมู่ เฉพาะภาค ของตนออกมา ให้เป็นที่ประจักษ์ใน พาหุยุทธ์วิทยา อันบ่งบอกความเป็นชาติไท เลือดนักสู้ ผู้มีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติตน คือ “มวย”

และนักมวยผู้ที่สร้างชัยชนะให้กลายเป็นตำนาน ผู้เปลี่ยนเส้นทางวงการมวยคาดเชือก ให้พลิกผันไปตลอดกาล คือ นายแพ เลี้ยงประเสริฐ หนึ่งในนักมวย ๕ ใบเถา จากบ้านท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ ผู้ที่ชก นายเจีย แขกเขมร (เจีย พระตะบอง) มวยฝีมือดีจากแถบชายแดนตะวันออก ด้วยสืบทิ่มหมัดหงาย เข้าที่ลูกกระเดือกในท่า หนุมานถวายแหวน อันลือลั่น จนนายเจียถึงกับหมดสติ และสิ้นใจในเวลาต่อมา เป็นเหตุการณ์สำคัญ ยุค สนามมวยหลักเมือง (ร.๗ พ.ศ. ๒๔๖๘) ภายใต้กฏกติกาการชกมวยคาดเชือก ด้วยมีมาตราหนึ่งใน พระธรรมนูญลักษณะเบ็ดเสร็จบัญญติ ไว้ว่า

อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กฏกติกา ตลอดจนมีการบังคับให้สวมนวมแบบสากล และสวมถุงเท้า ในการชกต่อยมวยไทย อันเป็นผลให้วิทยาการ มวยคาดเชือกอย่างโบราณสมัย ต้องย่อหย่อนเสื่อมถอย ความเป็นศิลปศาสตร์ลง อย่างน่าเสียดาย

No comments: