Tuesday, March 27, 2007

เครื่องราง ของขลัง อาพัด


ประเจียด
.....หากใครเคยชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่านักรบไทยมีผ้าสีแดงรัดต้นแขนหรือโพกศีรษะขณะเข้าสงคราม นี่คือ ผ้าประเจียด ซึ่งเป็นเครื่องรางที่นักมวยไทยนำมาใช้ผูกตัว เมื่อเข้า มักทำจากผ้าสีแดงหรือผ้าขาวบาง อย่างดีจากประเทศอินเดียที่
เรียกว่า ผ้าสาลู ตัวผ้าประเจียดนั้นจริงๆแล้ว คือ ผ้ายันต์ที่พับเข้าเป็นแถบ หรือม้วนเป็นวง เพื่อสะดวกต่อการใช้ผูกแขนหรือศีรษะนั่นเอง บนผืนผ้านั้นเกจิอาจารย์จะลงเลขยันต์ประเภท มหาอำนาจ, ชาตรีมหายันต์ หรืออาจนำ ตะกรุดแผ่น บรรจุไว้ด้วย ก่อนนำเข้าพิธีพุทธาภิเษก เพื่อเพิ่มพูนความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนักมวยนั้นมีมงคลสวมศีรษะอยู่แล้ว ก็จะนำผ้าประเจียดมารัดต้นแขนเพื่อเป็นสิริมงคล

.....สำหรับนักมวยสายไชยา มักนิยมสวมผ้าประเจียด เพียงอย่างเดียว เรียก ประเจียดหัว กับ ประเจียดแขน เมื่อศิษย์จะทำการตีมวย ครูบาอาจารย์ท่านจะนำประเจียดทั้งสองชนิดมาเสกเป่าด้วยพระคาถา พร้อมทั้งเจิมประแจะเสกลงที่หน้าผาก ก่อนการสวมประเจียดหัว ประเจียดแขน

มงคล
.....มงคลเป็นเครื่องรางสำหรับสวมศีรษะ มักทำจากผ้าแถบผืนแคบๆ ที่ลงยันต์แล้วม้วนพันด้วยด้ายสายสิญจ์ หลังจากนั้นจึงหุ้มด้วยผ้าลงอาคมขดเป็นวงแล้วทิ้งหางยาวไว้ด้านหลัง หรืออาจทำจากเชือกขด หรือสายสิญจ์หลายเส้น นำมาขวั้นรวมกันเป็นเส้นใหญ่แล้วหุ้มผ้าประเจียดก็ได้ นักมวยแต่ละภาคก็จะมีมงคลเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง (เว้นแต่มวยไชยาเท่านั้นที่ใช้ผ้าประเจียดสวมศีรษะแทนมงคล) และเนื่องจากมงคลมิใช่เครื่องประดับแต่เป็น เครื่องรางเพื่อคุ้มครองนักมวยตั้งแต่เบื้องศีรษะลงมา จึงถือเป็นประเพณี ว่าต้องให้ครูมวยเป็นผู้สวมให้โดยขณะสวม ครูมวยแต่ละสำนักก็มักบริกรรมคาถากำกับไปด้วยและที่สำคัญนักมวยจะไม่ถอด ประเจียด หรือ มงคลออก ขณะตีมวยกัน

พิรอด

.....พิรอดคล้ายกับประเจียดแต่ต่างกันที่มีกรรมวิธีที่ซับซ้อนกว่า โดยเริ่มจากการนำผ้าลงยันต์มาม้วนเป็นเส้น แล้วชโลมด้วยน้ำข้าว เพื่อให้ผ้ายันต์ม้วนตัวกันแน่นเป็นเส้นก่อนนำด้ายสายสิญจน์มามัดทับผ้ายันต์ไว้ให้สวยงาม ถักขึ้นรูปเป็นพิรอดและเข้าพิธีปลุกเสก หลังจากนั้นจึงทดสอบความขลังด้วยการเผาไฟ วงใดไฟไม่ไหม้ จึงจะนำไปลงรักน้ำเกลี้ยงและปิดทองเพื่อความสวยงาม ตัวพิรอดมีหลายรูปแบบ ทั้งแหวนพิรอด พิรอดสวมต้นแขน หรือพิรอดมงคลสวมหัวที่ขึ้นชื่อในหมู่นักสะสมเครื่องราง คือ แหวนพิรอดของหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา

ขวานฟ้า
.....ขวานฟ้า จัดอยู่ในหมวดธาตุกายสิทธิ์ เป็นหินมีรูปร่างคล้ายขวาน นักมวยคาดเชือกในสมัยโบราณถือเป็น เครื่องคาดเครื่องราง ที่จะใส่ไว้ในซองมือระหว่างพันหมัดด้วยด้ายดิบก่อนการตีมวย คนโบราณเชื่อกันว่า ขวานฟ้ามีฤทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ จะพบได้บริเวณที่มีฟ้าผ่าลงดินและคนมีบุญบารมีเท่านั้นที่จะขุดพบ นอกจากนี้ท่านยังใช้เป็นเครื่องมือรักษาโรค กดที่บวม และบดเป็นยา เชื่อกันว่าหากเอาขวานฟ้าไว้ในยุ้งข้าว ข้าวจะไม่พร่อง วางขวานฟ้าไว้ที่ลานตากข้าวเปลือก ไก่ป่าจะไม่เข้ามาจิกกิน บางจังหวัดในภาคกลาง ใช้ไล่ผีโดยให้เอาขวานฟ้าซุกไว้ใต้ที่นอนคนที่มีผีเข้า นอกจากนี้ในบ่อนไก่บางแห่ง ยังใช้ขวานฟ้าบด เพื่อใช้รักษาตาไก่ที่แตกเป็นแผล

*หมายเหตุ
.....วิชาโบราณคดี กล่าวถึงขวานฟ้าว่า เป็นขวานหิน แหล่งที่พบมักมีร่องรอยของหลักฐานด้านสังคมเกษตร และการใช้ภาชนะดินเผา จึงเรียกชุมชนของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในยุคนี้ว่า มนุษย์ยุคหินใหม่ หรือ ยุคสังคมเกษตรเริ่มต้น
.....ขวานหินพบเห็นอยู่ทั่วไป ในทุกภาคของประเทศไทย มีหลายขนาด แยกออกได้เป็น ๒ แบบ คือ ขวานหินขัด และ ขวานหินกะเทาะ มีอายุประมาณ ๖-๔ พันปี

ตะกรุด

.....ตะกรุด คือ แผ่นโลหะลงยันต์ศักดิ์สิทธ์ เช่น ยันต์อิติปิโสกลบท นำมาม้วนเป็นวง และปลุกเสกด้วยกำลังจิต ตามกรรมวิธีโบราณของเกจิอาจารย์แต่ละท่าน ใช้ร้อยเชือกผ่านรูตรงกลางแล้วนำมาห้อยคอหรือคาดเอว โดยหวังผลทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี ตระกรุดมีหลายขนาด หากเป็นตะกรุดขนาดใหญ่ ใช้ห้อยคอหรือเอวเพียง ชิ้นเดียว เรียกว่า ตะกรุดโทน ฯลฯ

No comments: