Tuesday, March 27, 2007

ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย



.....ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย สืบตระกูลมาจากนักรบโดยลำดับดังนี้

.....พระยาชุมพร (ซุ่ย ซุ่ยยัง) ตาทวด (พ่อของย่า) เป็นแม่ทัพไทยตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีมาขึ้นประเทศไทย
ปลายรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๗ มีลูกเขยชื่อปานซึ่งได้เป็นที่พระศรีราชสงคราม

.....พระศรีราชสงคราม (ปาน ) ปลัดเมืองไชยา (เป็นปู่) มีลูกชายชื่อขำ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ รับใช้
สอยในสำนักสมเด็จเจ้าาพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นหลวงสารานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาเมื่ออายุ ๒๕ ปี

.....หลวงสารานุชิต (ขำ ศรียาภัย) ได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระศรีราชสงคราม ปลัดเมืองไชยา (แทนบิดาซึ่งถึงแก่กรรม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒

.....พระศรีราชสงคราม (ขำ ศรียาภัย) ได้ช่วยปราบจีนจลาจลที่เมืองภูเก็ตในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลอง ซึ่งพวกจีนติดสินบน หัว ๑๐๐๐ เหรียญ จีนจลาจลแตกพ่ายหนีกระจัดกระเจิงลงเรือใบใหญ่ ออกทะเล จึงได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อยศเป็น พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยา พ.ศ.๒๔๒๒ พวกจีนจลาจลที่ภูเก็ตหนีลงเรือแต่ไม่กลับเมืองจีน ได้เที่ยวปล้นตามหัวเมือง ชายทะเล ตั้งแต่ปลายอณาเขตไทย ทางใต้จนถึงเมืองเกาะหลัก คือประจวบคีรีขันท์ เรืองรบหลวง ๒ ลำ มีกำลังพล ๒๐๐ ต้องประจำรักษาเมืองภูเก็ต จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองทำการปราบปราม เวลานั้นพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองไชยา แต่มีหน้าที่รักษาเมืองชุมพร และ กาญจนดิษฐ์ ด้วย ได้คิดสร้างลูกระเบิดมือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวบรวมพลอาสาออกปราบปรามโจรจีนสลัดในอ่าวไทยเป็นเวลา ๓ ปี
โจรจีนสลัดสงบราบคาบ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆเป็นบำเหน็จโดยลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม เพื่อประกาศความดีความชอบที่ได้สร้างลูกระเบิดมืออันเป็นอาวุธแปลกไม่เคยเห็นกันในสมัยนั้น

.....ต่อมาอีก ๗ ปี คือวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จนกระทั่งวันถึงแก่กรรม วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๕๗

.....เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

.....เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลหนองช้างตาย (ต.ท่าตะเภา ในปัจจุบัน) อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ในสมัยเด็กอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรง ทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตีจับ ฯลฯ ได้เป็นที่ ๑ ในชุดวิ่งเปรี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม มีชื่อทางวิ่งเปรี้ยวแต่นั้นมา

ได้ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่า โรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า ๓ เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องทนมือทนตีนอยู่ ๓ ปี อันเป็นปฐมเหตุแห่งความพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม ๑๒ ท่าน คือ
๑. พระยาวจีสัตยารักษ์ ( ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา -บิดาบังเกิดเกล้า
๒. ครูกลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี -อา
๓. หมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง )
๔. ครูกลับ อินทรกลับ
๕. ครูสอง ครูมวยบ้านนากะตาม อำเภอท่าแซะ
๖.ครูอินทร์ สักเดช ครูมวยบ้านท่าตะเภา
๗. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
๘. ครูสุก เนตรประไพ ครูมวยบ้านแสงแดด
๙. ครูวัน ผลพฤกษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะโป
๑๐. อาจารย์ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
๑๑. ครู (กิมเส็ง)สุนทร ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนคร อาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
๑๒. อาจารย์ หลวงวิศาลดรุณากร

.....เมื่ออายุ ๑๙ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อาจารย์ เขตร ได้ไปดูการฝึกมวยที่บ้าน อาจารย์กิมเส็ง และเกิดความสนใจใน " หงายหมัด " ของค่ายทวีสิทธิ์ อีกหนึ่งปีต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ อาจารย์เขตร จึงได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า และขันน้ำ ไปกราบขอเป็นศิษย์กับ อาจารย์กิมเส็ง ในวัน พฤหัสบดีอันเป็น " วันครู " ตามคติโบราณ ได้อยู่ร่ำเรียนรับใช้ ไปมาหาสู่กับ อาจารย์กิมเส็ง เป็นเวลา ๔๐ ปี จนครูท่านสิ้น จึงนับได้ว่าวิชามวยไชยาสายอาจารย์เขตร นั้นมีส่วนผสมวิชามวยของท่านอาจารย์กิมเส็ง อยู่อย่างแยบยลจนแยกกันไม่ออก

.....นอกจากการเล่นกีฬา หมัดหมวย ฟุตบอล และ วิ่งแข่ง กระโดดสูงกระโดดยาว รวมทั้งมวยสากลกับมองซิเออร์ ฟโรว์ นักมวยคู่ซ้อมของยอร์ช กาปังติเอร์ แล้ว เขตร ศรียาภัยยังสามารถ แจวเรือพายและถือท้ายเรือยาว (เรือดั้ง เรือแซง) เรือยนต์ เรือกลไฟ ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซ รวมทั้งการขี่ม้า ขี่และฝึกช้างตามแบบที่เรียกว่าคชกรรมอีกด้วย

..... ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๔ อาจารย์เขตร ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งสนามมวยธรรมศาสตร์ ขึ้นแทนสนามมวยราชดำเนินที่ไม่มีหลังคากันฝน ล่วงถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ จึงได้เข้าเป็นผู้จัดการ สนามมวยลุมพินี อยู่หลายปี จนช่วงอายุ ๖๙-๗๐ ปี คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการ และอาจารย์ สงบ สอนสิริ จึงได้ชักชวนให้ท่านเขียน " มวยไทยปริทัศน์ " ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เล่าถึงเรื่องมวยคาดเชือกในยุค สนามสวนกุหลาบ สนามมวยหลักเมืองสนามมวยสวนสนุก เกร็ดความรู้เรื่องมวยไทย และความรู้เรื่องมวยของชนชาติอื่นๆ จนได้รับการยอมรับและได้รับการ เรียกขาน ท่านเป็น " ปรมาจารย์ " มวยไทย อาจารย์เขตร ศรียาภัย ถึงแก่กรรม ด้วยโรคหัวใจ ล้มเหลว เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑ สิริอายุรวม ๗๕ ปี

No comments: