Tuesday, March 27, 2007

ขนบธรรมเนียม มวย

.....ด้วยว่า มวยไทยนั้น เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย อันประกอบด้วย วิทยาการต่อสู้แบบฉบับเฉพาะของคนไทย และยังประกอบไปด้วย ประเพณี พิธีกรรม อันดีหลายอย่าง ที่บ่งบอกถึงความเป็นคนกล้าหาญ เข้มแข็ง อีกทั้งยัง อ่อนน้อม ถ่อมตน รู้คุณ กตัญญู กตเวที ต่อชาติ ต่อครูบาอาจารย์ คุณธรรมเหล่านี้ ได้ถูกแสดงออกด้วย ประเพณี พิธีกรรม และขั้นตอนต่างๆ อย่างมีหลักเกณฑ์ ด้วยจิตคารวะของผู้เป็นศิษย์ ผู้มีจรรยา สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีของชาติ

พิธีมอบตัวเป็นศิษย์

.....ผู้สมัครแจ้งความประสงค์ ขอเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ เพื่อรับการอบรม สอนสั่ง วิทยาการต่าง จากครู โดยมากใช้ วันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็น วันครู เมื่อผู้สมัครกล่าวแนะนำตนแล้ว ครูก็จะพูดคุยซักถาม ประวัติความเป็นมา และดูกิริยาท่าทาง ว่าสุภาพ เรียบร้อย มีสัมมาคารวะ เป็นผู้ที่เหมาะสมจะได้รับการอบรมสั่งสอนหรือไม่

.....เมื่อครู พอใจแล้ว จึงรับผู้สมัคนั้นเข้าเป็นศิษย์ ถ่ายทอดศิลปะวิทยา โดยให้ศิษย์อยู่ฝึกฝนในสำนักตนสักระยะหนึ่ง ครูจึงค่อยพิจารณา หากเห็นว่า ศิษย์มีความขยันหมั่นเพียร ฝึกซ้อมทำตามแบบวิชาที่สอนเบื้องต้นได้ดีพอควรแล้ว อีกทั้งมีอุปนิสัยดี ครูจึงจะเรียกศิษย์ผู้นั้นให้มา ขึ้นครู อีกครั้งหนึ่ง

.....( ในยุคที่ ครูทอง สอนอยู่นั้น ครูมักจะพูดเสมอว่า หากใครที่ยัง ทำท่าไหว้ครู ไม่ได้ หรือ ครูยังไม่ได้รับรองว่า ผู้นั้นสามารถ รับเตะรับต่อย ได้คล่องแล้ว อย่าบอกว่า เรียนมวยไชยา )


การขึ้นครู

....." การขึ้นครู " เป็นการแสดงความคารวะ และรับสัตย์ เบื้องต้น เท่ากับสมัครตัว ยอมใจ เข้าพวก และรับการอบรม สั่งสอน มารยาทและวัฒนธรรม เพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสงบปราศจากศัตรู หรือรู้จกประพฤติและวางตน รู้จักคบ และสงวนบุคคล ไว้เป็นที่พึ่ง " (ปรมาจารย์ เขตร์ ศรียาภัย )

.....ในการทำ พิธีขึ้นครู นั้นครูจะเป็นผู้เลือกวัน ตามฤกษ์ยาม และกำหนด สิ่งของที่จะใช้ในพิธี อย่างเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ผ้าขาวม้า เงิน ฯลฯ

.....พิธีจะกระทำต่อหน้า พระพุทธรูป ศิษย์รับศีลห้า และกล่าวคำขอขึ้นครู พร้อมสาบานตน ครูกล่าวรับเป็นศิษย์ และให้โอวาท เป็นเสร็จพิธี

.....การขึ้นครูนั้น บางครั้ง ครูจะเป็นผู้เลือกศิษย์เอง ด้วยเห็นในความสามารถ หรือความเหมาะสม อื่น ๆ

การครอบครู

....เป็นพิธีสำคัญ ในการมอบหมายให้ศิษย์ ที่ครูไว้วางใจในทุกด้าน ให้เป็นผู้สืบทอด ส่งต่อวิชาได้มี ศักดิ์ และ สิทธิ์เทียบเท่าครู

การถวายบังคม


..... นักมวยที่จะทำการตีมวย ต่อหน้าพระที่นั่ง จะต้องกระทำการถวายบังคมเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่ง ความกตัญญูรู้คุณ ต่อแผ่นดิน และจงรักภักดีต่อพ่อบ้านพ่อเมือง และเพื่อเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษด้วยเหตุ ที่จะต้องมีการกระทำกิริยาอันไม่เหมาะไม่ควร ต่อเบื้องพระพักต์ขององค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นประเพณีที่กระทำ สืบต่อกันมานาน

การไหว้และขอขมา

.....การไหว้และขอขมา ประเพณีนิยมอย่างหนึ่งซึ่งเราชาวไทยมักเห็นกันเสมอ เมื่อมีการแสดงการละเล่น กระบี่กระบอง และมวยไทย จบลงฝ่ายชนะหรือทั้งสองฝ่ายจะนั่งคุกเข่าพนมมือไหว้ฝ่ายที่นอนอยู่หรือไหว้ ซึ่งกันและกัน คนไทยเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นวัฒนธรรมที่ทั่วโลกยกย่องสรรเสริญ การแสดงออกด้วยการ ไหว้แลการขอขมาซึ่งกันและกันนี้ ก็นับเป็นศิลปะวัฒนะธรรมที่ควรสืบทอดอนุรักษ์ให้ดำรงอยู่ควรคู่ลูกหลานไทย สืบไป

วิธีคาดเชือก




การตรวจลม สอบปราณ

.....หากใครเคยได้เห็นการร่ายรำไหว้ครูของมวยไชยา และออกเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อยจะพบว่าหลังจากนักมวยถวายบังคมพระมหากษัตริย์แล้ว นักมวยจะนั่งยองลงบริกรรมคาถาและก้มลง กราบที่พื้น๓ ครั้งแล้ว นักมวยจะยืนขึ้นสำรวมกาย พร้อมกับยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นอุดที่รูจมูกทีละข้าง สูดลมหายใจเข้าออกช้า ๆ จึงกระทืบเท้าตั้งท่าครูแล้วร่ายรำมวย ล่อหลอก คุมเชิง ดูคู่ต่อสู้ ที่จริงแล้วนี่คือวิชาตรวจลมหายใจ หรือตรวจ "ปราณ" ที่สืบทอดมาแต่ครั้งโบราณ

เครื่องราง ของขลัง อาพัด


ประเจียด
.....หากใครเคยชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่านักรบไทยมีผ้าสีแดงรัดต้นแขนหรือโพกศีรษะขณะเข้าสงคราม นี่คือ ผ้าประเจียด ซึ่งเป็นเครื่องรางที่นักมวยไทยนำมาใช้ผูกตัว เมื่อเข้า มักทำจากผ้าสีแดงหรือผ้าขาวบาง อย่างดีจากประเทศอินเดียที่
เรียกว่า ผ้าสาลู ตัวผ้าประเจียดนั้นจริงๆแล้ว คือ ผ้ายันต์ที่พับเข้าเป็นแถบ หรือม้วนเป็นวง เพื่อสะดวกต่อการใช้ผูกแขนหรือศีรษะนั่นเอง บนผืนผ้านั้นเกจิอาจารย์จะลงเลขยันต์ประเภท มหาอำนาจ, ชาตรีมหายันต์ หรืออาจนำ ตะกรุดแผ่น บรรจุไว้ด้วย ก่อนนำเข้าพิธีพุทธาภิเษก เพื่อเพิ่มพูนความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนักมวยนั้นมีมงคลสวมศีรษะอยู่แล้ว ก็จะนำผ้าประเจียดมารัดต้นแขนเพื่อเป็นสิริมงคล

.....สำหรับนักมวยสายไชยา มักนิยมสวมผ้าประเจียด เพียงอย่างเดียว เรียก ประเจียดหัว กับ ประเจียดแขน เมื่อศิษย์จะทำการตีมวย ครูบาอาจารย์ท่านจะนำประเจียดทั้งสองชนิดมาเสกเป่าด้วยพระคาถา พร้อมทั้งเจิมประแจะเสกลงที่หน้าผาก ก่อนการสวมประเจียดหัว ประเจียดแขน

มงคล
.....มงคลเป็นเครื่องรางสำหรับสวมศีรษะ มักทำจากผ้าแถบผืนแคบๆ ที่ลงยันต์แล้วม้วนพันด้วยด้ายสายสิญจ์ หลังจากนั้นจึงหุ้มด้วยผ้าลงอาคมขดเป็นวงแล้วทิ้งหางยาวไว้ด้านหลัง หรืออาจทำจากเชือกขด หรือสายสิญจ์หลายเส้น นำมาขวั้นรวมกันเป็นเส้นใหญ่แล้วหุ้มผ้าประเจียดก็ได้ นักมวยแต่ละภาคก็จะมีมงคลเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง (เว้นแต่มวยไชยาเท่านั้นที่ใช้ผ้าประเจียดสวมศีรษะแทนมงคล) และเนื่องจากมงคลมิใช่เครื่องประดับแต่เป็น เครื่องรางเพื่อคุ้มครองนักมวยตั้งแต่เบื้องศีรษะลงมา จึงถือเป็นประเพณี ว่าต้องให้ครูมวยเป็นผู้สวมให้โดยขณะสวม ครูมวยแต่ละสำนักก็มักบริกรรมคาถากำกับไปด้วยและที่สำคัญนักมวยจะไม่ถอด ประเจียด หรือ มงคลออก ขณะตีมวยกัน

พิรอด

.....พิรอดคล้ายกับประเจียดแต่ต่างกันที่มีกรรมวิธีที่ซับซ้อนกว่า โดยเริ่มจากการนำผ้าลงยันต์มาม้วนเป็นเส้น แล้วชโลมด้วยน้ำข้าว เพื่อให้ผ้ายันต์ม้วนตัวกันแน่นเป็นเส้นก่อนนำด้ายสายสิญจน์มามัดทับผ้ายันต์ไว้ให้สวยงาม ถักขึ้นรูปเป็นพิรอดและเข้าพิธีปลุกเสก หลังจากนั้นจึงทดสอบความขลังด้วยการเผาไฟ วงใดไฟไม่ไหม้ จึงจะนำไปลงรักน้ำเกลี้ยงและปิดทองเพื่อความสวยงาม ตัวพิรอดมีหลายรูปแบบ ทั้งแหวนพิรอด พิรอดสวมต้นแขน หรือพิรอดมงคลสวมหัวที่ขึ้นชื่อในหมู่นักสะสมเครื่องราง คือ แหวนพิรอดของหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา

ขวานฟ้า
.....ขวานฟ้า จัดอยู่ในหมวดธาตุกายสิทธิ์ เป็นหินมีรูปร่างคล้ายขวาน นักมวยคาดเชือกในสมัยโบราณถือเป็น เครื่องคาดเครื่องราง ที่จะใส่ไว้ในซองมือระหว่างพันหมัดด้วยด้ายดิบก่อนการตีมวย คนโบราณเชื่อกันว่า ขวานฟ้ามีฤทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ จะพบได้บริเวณที่มีฟ้าผ่าลงดินและคนมีบุญบารมีเท่านั้นที่จะขุดพบ นอกจากนี้ท่านยังใช้เป็นเครื่องมือรักษาโรค กดที่บวม และบดเป็นยา เชื่อกันว่าหากเอาขวานฟ้าไว้ในยุ้งข้าว ข้าวจะไม่พร่อง วางขวานฟ้าไว้ที่ลานตากข้าวเปลือก ไก่ป่าจะไม่เข้ามาจิกกิน บางจังหวัดในภาคกลาง ใช้ไล่ผีโดยให้เอาขวานฟ้าซุกไว้ใต้ที่นอนคนที่มีผีเข้า นอกจากนี้ในบ่อนไก่บางแห่ง ยังใช้ขวานฟ้าบด เพื่อใช้รักษาตาไก่ที่แตกเป็นแผล

*หมายเหตุ
.....วิชาโบราณคดี กล่าวถึงขวานฟ้าว่า เป็นขวานหิน แหล่งที่พบมักมีร่องรอยของหลักฐานด้านสังคมเกษตร และการใช้ภาชนะดินเผา จึงเรียกชุมชนของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในยุคนี้ว่า มนุษย์ยุคหินใหม่ หรือ ยุคสังคมเกษตรเริ่มต้น
.....ขวานหินพบเห็นอยู่ทั่วไป ในทุกภาคของประเทศไทย มีหลายขนาด แยกออกได้เป็น ๒ แบบ คือ ขวานหินขัด และ ขวานหินกะเทาะ มีอายุประมาณ ๖-๔ พันปี

ตะกรุด

.....ตะกรุด คือ แผ่นโลหะลงยันต์ศักดิ์สิทธ์ เช่น ยันต์อิติปิโสกลบท นำมาม้วนเป็นวง และปลุกเสกด้วยกำลังจิต ตามกรรมวิธีโบราณของเกจิอาจารย์แต่ละท่าน ใช้ร้อยเชือกผ่านรูตรงกลางแล้วนำมาห้อยคอหรือคาดเอว โดยหวังผลทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี ตระกรุดมีหลายขนาด หากเป็นตะกรุดขนาดใหญ่ ใช้ห้อยคอหรือเอวเพียง ชิ้นเดียว เรียกว่า ตะกรุดโทน ฯลฯ

คงกระพันชาตรี ๖ ประเภท


.....ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ได้เขียนไว้ในหนังสือ วิชาคงกระพันชาตรีว่า วิชาไสยศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์พ้น อันตรายจากอาวุธนั้นแบ่งออกได้เป็น ๖ ประเภท คือ

วิชาคงกระพัน
.....เป็นวิชาที่ทำให้ร่างกายมนุษย์อยู่คงต่ออาวุธทั้งปวง ฟันแทงไม่เข้า ถ้าจะฆ่าให้ตายต้องใช้ไม้แทงทะลุทวารหนัก เท่านั้น แบ่งเป็นวิชาย่อยต่างๆ เช่น

...............๐ การเสกของกิน วิธีนี้เรียกว่าอาพัด เช่น อาพัดเหล้า อาพัดว่าน
...............๐ เสกฝุ่นผงน้ำมันทาตัว หรือปูนแดงป้ายลูกกระเดือก
...............๐ การเรียกของเข้าตัว เช่นน้ำมันงา หรือประกายเหล็กเพื่อให้คงทนเยี่ยงเหล็ก เป็นต้น

.....การเรียกประกายเหล็กเข้าตัวนี้มีกรรมวิธีที่พิศดารมาก คือ ให้นำเหล็ก ที่มีประกายเวลากระเทาะหินมานั่งับไว้ตรงรูทวารหนัก หลังจากนั้นจึงบริกรรม คาถาเรียกประกายเหล็กเข้าตัวทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไปให้นำเหล็กกระเทาะหินดู หากหินนั้นมีประกายอยู่ให้บริกรรมต่อไป หากหินนั้นหมดประกายแล้วก็แสดงว่า ประกายเหล็กถูกเรียกเข้าตัวหมดแล้ว

วิชาชาตรี
.....เป็นวิชาที่ใช้ป้องกันอาวุธให้ฟันแทงไม่เข้าได้เช่นเดียวกับ วิชาคงกระพัน วิชานี้ทำให้ตัวเบากระโดดได้สูงและอาวุธที่มากระทบตัวนั้นนอกจากไม่ระคายผิวหนังแล้ว ยังไม่รู้สึกเจ็บอีกด้วย วิชานี้มีจุดอ่อน คือ หากถูกตีด้วยของเบา เช่น ไม้ระกำ ไม้โสนกลับเป็นอันตรายได้

วิชาแคล้วคลาด
.....เป็นวิชาที่ทำให้อันตรายที่จะมาถึงตัวนั้นหลีกเลี่ยงไป และแม้จะถูกทำร้ายซึ่งหน้าก็ดี อาวุธนั้นก็จะมีเหตุให้บังเอิญพลาดเป้าไป มีทั้งการใช้เครื่องราง เช่น ตะกรุด และคาถาอาคม วิชานี้รวมถึง วิชาพรหม 4 หน้า ที่นักมวยคาดเชือกใช้บริกรรมเพื่อให้คู่ต่อสู้ชกไม่ถูกเพราะเห็นเป็นหลายหน้าด้วย

วิชามหาอุด
.....เป็นวิชาที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ใช้กันปืนให้เกิดอาการขัดลำกล้อง ยิงไม่ออก ดังคำว่า อุด มีทั้งที่เป็นคาถาภาวนา และเครื่องรางเช่น ตะกรุดที่อุดหัวอุดท้ายแล้ว ตลอดจนกระทั่งลูกปืนที่ด้านแล้วก็นำมาใช้ลงคาถามหาอุดเช่นเดียวกัน ด้วยถือคติว่าแม่ย่อมไม่ฆ่าลูก ผู้ใช้จะปลอดภัยไปด้วย

วิชาแต่งคน
.....วิชานี้แม่ทัพนายกองในสมัยโบราณใช้คุ้มกันทหารในกองทัพ มักนิยมเสกน้ำมัน ใช้ปูนป้ายลูกกระเดือก หรือเสกหมากให้กินก็ได้

วิชาล่องหนหายตัว
.....วิชานี้กล่าวว่าเมื่อผู้ฝึกถึงขั้นจะสามารถ กำบังตนและพาหนะไม่ให้คู่ต่อสู้มองเห็นได้

*ซึ่งยังมีวิชาปลีกย่อยอีกมากมายในตำราพิชัยสงครามที่อาจจัดเข้าหมวดหมู่ที่จัดไว้หรือแยกไปตากหาก เช่น สมานแผล เป็นต้น

ไสยศาสตร์

.....นักรบและนักมวยไทยในสมัยโบราณ ไม่เพียงแต่เรียนรู้การใช้อาวุธและอวัยวุธเท่านั้น หากจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้อำนาจของจิตในการต่อสู้ ทั้งจากการจูงจิต สมาธิ คาถาอาคม ว่านยา ธาตุกายสิทธิ์ และเครื่องของขลังในรูปแบบต่างๆ

เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจให้ให้เข้มแข็งมั่นคงกว่าฝ่ายตรงข้ามและปกป้องอันตรายในขณะต่อสู้ จนอาจถือได้ว่าเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของนักรบไทยทีเดียว ดังที่พบได้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ที่สะท้อนค่านิยมและชีวิตความเป็นอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี ตัวขุนแผนเองนอกจากหน้าตาดี มีคาถาอาคมแล้ว ก็มีของวิเศษสามสิ่ง คือดาบฟ้าฟื้น กุมารทอง และม้าสีหมอก แต่เมื่อมาพบกับ ตรีเพชรกล้า ทหารเอกฝ่ายเมืองเชียงใหม่แล้ว เครื่องรางของขลังของขุนแผนก็ดูน้อยลงถนัดใจ เพราะตรีเพชรกล้ามีเครื่องรางของขลังชนิดฟูลออปชั่น คุ้มตัวตั้งแต่หัวจดเท้าเลยทีเดียว

พระพุทธคุณ

..... ชนชาติไทย สืบทอดความเชื่อ ความศรัทธา และนับถือลัทธิพราหมณ์ มาช้านาน ก่อนจะถึงยุครุ่งเรืองของ พระพุทธศาสนา การได้รับอิทธิพลนี้จากอินเดีย ผสมร่วมกับความเชื่อของชนหลายเผ่าในท้องถิ่นเดิม จึงทำให้ คนไทยรวบรวมดัดแปลง อิทธิวิธี พิธีกรรม เลขยันต์ ต่างๆ เข้าเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตน เป็นลัทธิพุทธศาสนา อันเกี่ยวกับการใช้คาถาอาคม หรือ ลัทธิพุทธตันตระ

.....พุทธศาสนา จัดแบ่งความเชื่อในปาฏิหาริย์ ไว้ ๒ อย่างคือ

...............๑. อนุศาสนีปาฏิหาริย์ หรือ คำสอนที่เป็นความจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นอัศจรรย์

...............๒. อิทธิปาฏิหาริย์ หรือ ฤทธิ์อันเป็นอัศจรรย์

.....การใช้พุทธคุณ จึงมีทั้งในรูปของ คำสวดมนต์ คาถา หัวใจพระคาถา หลายแบบหลายวิธี และในรูปของ รูป เหรียญ เครื่องราง ของขลัง ยันต์ ตะกรุด ฯลฯ ที่พระสงฆ์ ได้ กำหนดจิต ทำพิธีปลุกเสก แล้ว เชื่อว่ามี ฤทธิ์อันเกิดจากจิต มีคุณในด้านต่าง ๆ

.....ผลสำเร็จอันจะเกิดจาก คาถา หรือ เครื่องรางอื่นใด ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ใช้ คุณวิเศษจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ จิตที่สำรวมเป็นสมาธิ ซึ่งอาจสามารถแสดง อิทธิฤทธิ์ ได้ตามภูมิ (จิตตานุภาพ) ของผู้บริกรรม

.....หากแต่ ความเชื่อเรื่อง กรรม เป็นผลจากการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยังคงเป็น อนุศาสนี ที่พิสูจน์ได้อยู่เสมอ ความเป็นมงคลที่ดี ย่อมขึ้นอยู่กับ ความเป็นผู้มี จิตใจดีงาม มีสติอยู่เสมอ และไม่ประมาท สิ่งนี้เป็น สัจจะธรรม แห่ง พุทธคุณบริสุทธิ์ ยอดแห่งปาฏิหาริย์อันอัศจรรย์แท้ ในทุกยุคทุกสมัย

ชินศรัทธา - ความเชื่อกำหนดความจริง



.....ขณะที่สมรภูมิในสมัยโบราณนั้นงดงามด้วยธงทิวและรูปแบบการจัดกระบวนทัพ แต่ก็เป็นสถานที่ ที่อันเต็มไป ด้วยความน่าสยดสยองจากคมหอกคมดาบของแต่ละฝ่าย เพราะเป็นการรบพุ่งในลักษณะเข้าตะลุมบอน ที่แต่ละฝ่าย เข่นฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมต่อหน้าต่อตา ในสถานการณ์อันวิกฤตเช่นนี้ ชั้นเชิงในการต่อสู้อย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ผู้ที่มีกำลังใจกล้าแข็งเท่านั้นจึงจะครองสติอยู่ และสามารถถืออาวุธออกประจันหน้ากับข้าศึกต่อไปได้โดย ไม่หวาดหวั่น หรือถูกฆ่าตายไปก่อน ชินศรัทธา หรือ ความเชื่อที่นำไปสู่ชัยชนะ คือ สิ่งที่นักรบไทยแต่โบราณนำมา ใช้บ่มเพาะกำลังใจควบคู่กับการฝึกปรือฝีมือในเชิงรบตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เช่น เครื่องราง ของขลัง คาถาอาคม เป็นต้น

.....แม่ทัพนายกองจะต้องมีความรู้ในวิชาเหล่านี้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถแต่งทัพออกรบกับข้าศึกในสนามรบได้ อีกทั้งในอดีต ชายไทยทุกคนมีหน้าที่เป็นทหาร ยามเกิดศึกสงคราม สมรภูมิจึงเป็นสนามทดสอบความเชื่อโดยมี ชีวิตของตนเป็นเดิมพัน วิชาใดที่ใช้ได้จริงก็จะมีผู้รอดชีวิตกลับมาบอกเล่า และถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง ๆ ในยาม ว่างเว้นจากสงคราม นอกเหนือจากวิชาการต่อสู้อันเป็นมรดกไทยแล้ว คนรุ่นเรายังสามารถเรียนรู้ความเชื่อที่แฝงอยู่ ในวิถีชีวิตของบรรพบุรุษไทยในอดีต เพื่อทำความเข้าใจ ในรากเหง้าความเป็นมาของชาติไทยไปด้วยพร้อมๆกัน

ครูแปรง อมรกฤต ประมวญ


.....เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เดินทางมาศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัย รามคำแหง และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว แผนกมวยไทย ฝึกซ้อม และขึ้นชกมวย ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย อยู่พักหนึ่ง จึงย้ายมาเรียนที่ แผนก อาวุธไทย “สำนักดาบเจ้าราม” ซึ่งรุ่นพี่ในชมรมฯช่วงนั้น จะมีหลายคนมาจากหลายสำนัก รวมตัวกันในรามฯ เพื่อก่อตั้งเป็น แผนกอาวุธไทย

.....ครูแปรง จึงได้เรียนวิชา จากหลายสำนัก เช่น ดาบพุทไธสวรรค์, ดาบผดุงสิทธิ์,
ดาบพละ, ดาบพรานนก, ดาบอาทมาต, ดาบอาทมาต เท้าช้าง ปัตตานี, มีดสั้นทอง นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๕ จึงจบหลักสูตร หลังจากนั้น ครูแปรง ยังได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากครูอีกหลายท่าน อาทิเช่น ครูพัน ยารนะ ครูดาบสะบัดชัย, ดาบสายกรมหลวงชุมพร จาก กี คลองตัน, ดาบบ้านไชว อยุธยา, ดาบสายอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ดาบและมวยในสายอาจารย์กิมเส็ง ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ปู่ สายมวยทวีสิทธิ์ ในเวลาต่อมาอีกด้วย

.....ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ระหว่างที่ ครูแปรง ทำการสอนวิชาดาบ ที่ แผนกอาวุธไทย ในฐานะรุ่นพี่อยู่นั้น ได้มีรุ่นน้องคนหนึ่ง ชื่อ ปาน ได้ขอซ้อมมวยกับ ครูแปรง ด้วยทราบว่า ครูแปรง เป็นนักมวยเวทีมาก่อน และระหว่างดูเชิงกันอยู่นั้น รุ่นน้องคนนั้น ได้ตั้งท่าทางมวยแปลกๆ ซึ่งทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องหลาย ๆ คนสนใจ สอบได้ความว่า เป็นวิชามวยคาดเชือก สายมวยไชยา ครูแปรงจึงได้ติดตามไปขอพบ และทดสอบวิชามวยนั้น ด้วยตัวท่านเอง จนแน่ใจว่า เป็นวิชามวยคาดเชือกจริง จึงเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ ศึกษาวิชามวยจากครูท่านนั้น ซึ่งก็คือ ครูทอง ครูมวยไชยา แห่งคลองทับช้าง (ทองหล่อ ยาและ)

.....ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๙ ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะเผยแพร่ศิลปะมวยไชยา และวิชากระบี่กระบอง อาวุธไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ครูทอง ได้ก่อตั้ง “ชมรม อนุรักษ์ พาหุยุทธ์ ไชยารัตน์ และอาวุธไทย ตำหรับพิชัยยุทธ์” และได้ ศิษย์อาวุธไทย “สำนักดาบเจ้าราม” คอยให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องงานสาธิต แสดงในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเผยแพร่ทาง นิตยสาร และโทรทัศน์ มาโดยตลอด
.....พ.ศ. ๒๕๒๗ ครูแปรง ได้รับการชักชวนจาก ครูทอง ให้ทำงานร่วมกับท่านที่ กรมโยธาฯ ผ่านฟ้า ทำให้ ครูแปรง ได้มีโอกาสติดตาม ครูทอง ช่วยงานสอนมวยไชยา ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งได้ร่วมกับ ครูทอง ปรับปรุงหลักสูตรการสอน มวยไชยา ให้เป็นระบบ ตามแนวคิดของ ครูทอง ที่ต้องการให้ศิลปะมวยคาดเชือก สายไชยา เป็นที่สนใจในวงกว้าง สามารถเรียนได้ทั้ง ผู้หญิง และเด็ก ในรูปของ “การบริหารร่างกาย เพื่อพาหุยุทธ์” โดยยึดหลักวิชาการ ตามแบบโบราณ ไว้อย่างเคร่งครัด
.....พ.ศ. ๒๕๓๙ ครูทอง เสียชีวิต ทำให้การดำเนินงานด้านเผยแพร่ มวยไชยา หยุดชะงักไปชั่วคราว ครูแปรง ขณะนั้นประกอบอาชีพ ทนายความ ได้ละงานประจำ มาดำเนินกิจกรรมสืบต่อ เหตุเพราะ ครูทอง ได้เคยพูดไว้เสมอว่า “มีอยู่สองคนที่ได้ วิชาจากครูมากที่สุด คือ แปรง กับ โย่ง” หรือ “ถ้าครูไม่อยู่ ใครจะเรียนมวย ให้ไปหาแปรง” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า ๒๐ ปี ครูแปรง เองก็ได้ตั้งใจพัฒนาทักษะทางร่างกาย ฝึกฝน สืบค้น ตีความ จนสามารถเข้าถึง เคล็ดวิชาในมวยไชยา ทำให้ศิษย์มวยไชยา และผู้สนใจ ต่างมุ่งมาเรียนกับ ครูแปรง เป็นหลัก
.....ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ครูแปรง และรุ่นพี่รุ่นน้องในชมรมฯ ได้ร่วมมือกันทำงานเผยแพร่อย่างจริงจัง จึงทำให้มีผู้รู้จัก และสนใจศึกษา ศิลปะมวยไชยา มากขึ้น คณะศิษย์มวยไชยา จึงได้ประชุมร่วมกัน เพื่อก่อตั้ง “มูลนิธิมวยไทยไชยา” พร้อมดำเนินการจดทะเบียนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ โดยมี ครูแปรง อมรกฤต ประมวญ ดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิฯ ดำเนินงานเผยแพร่ และ อนุรักษ์ศิลปะมวยไชยา และอาวุธไทย พิชัยยุทธ์ ในรูปองค์กรต่อไป.

ครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)

.....ท่านเกิดเมื่อ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๒ ที่โรงพยาบาล ศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อเรียน อยู่ชั้น ป.๖ โรงเรียนวัฒนศิลป์ ประตูน้ำ เริ่มเรียนมวยสากลกับครูประสิทธิ์ นักมวยสากลจากกรมพละ ช่วงอายุ ๑๓-๑๔ ปี ครูได้ออกหาค่ายมวยไทยที่จะเรียน อย่างจริงจัง ครูไปดูอยู่หลายที่ แต่ก็ไม่ถูกใจเพราะแต่ละค่ายนั้น เวลาซ้อมนักมวย จะเจ็บตัวกันมาก ไม่มีการป้องกันตัวเลย ครูจึงได้ไปหัดเรียนมวยไทยกับ ป๊ะลาม ญาติของแม่ แถวซอยกิ่งเพชร มีครูฉันท์ สมิตเวชกับครูชาย สิทธิผล สอน ด้วยว่า เป็นคนร่างเล็ก ผอมบาง จึงถูกเพื่อนๆรังแกอยู่เป็นประจำแต่ก็เรียนอยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกเด็กโตกว่ากลั่นแกล้ง หลังจากจบภาคการศึกษา และได้ผ่านชีวิตบู๊ โลดโผน อย่างลูกผู้ชายในยุคนั้นครูทองได้มาทำงานที่ การรถไฟ มักกะสันได้รู้จักกับเพื่อน ของคุณพ่อ ชื่ออาจารย์สามเศียร ได้พูดคุยเรื่องมวยและพาไปพบกับ อาจารย์เขตร ที่บ้าน ครูจึงเริ่มเรียนมวยไชยา ขั้นพื้นฐาน ตามลำดับ เรียนอยู่หลายเดือน จึงคิดจะ ขึ้นชกเวทีเหมือนอย่างรุ่นพี่บ้าง ช่วงนั้น ครูทอง

อายุประมาณ ๑๖ ปี จึงไปขออนุญาต อาจารย์เขตร อาจารย์ท่านก็ดูฝีไม้ลายมือว่าใช้ได้ จึงบอกครูให้ฟิตให้ดีแล้วจะพา ไปชก แต่ครูทองท่านได้แอบไปชกมวยเวที ตามต่างจังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ ชนะมากกว่าแพ้ และได้ชกชนะมวยดัง

ฉายาเสือร้ายแปดริ้ว ที่ฉะเชิงเทรา จนเป็นข่าวรู้ถึงอาจารย์เขตร นับแต่นั้นครูทอง จึงได้ชกใน กรุงเทพฯ โดยอาจารย์เขตร จะพาไปเอง ครูทองชกครั้งแรกที่เวที ราชดำเนินกับสมชาย พระขรรค์ชัย ครูทองแพ้ด้วยความตื่นเวทีใหญ่ เมื่อครูทองติดต่อขอแก้มือแต่ฝ่ายสมชาย ไม่ขอแก้มือด้วย มาเลิก ชกมวยเมื่ออายุ ๒๔ ปี เมื่อคุณย่าท่านป่วยหนักและได้ขอร้องให้ครูเลิกชกมวยเวที ครูทอง ก็ให้สัจจะ แต่ขอคุณย่าไว้ว่าจะเลิกต่อยแต่ไม่เลิกหัด คุณย่าท่านก็อนุญาต ครูทอง ได้เรียนมวยกับอาจารย์เขตร อยู่อีกหลายปี จนอาจารย์เขตร ออกปากว่า จะพาไปเรียนกับอาจารย์ใหญ่

.....อาจารย์เขตร จึงฝากครูทอง ให้ไปเรียนวิชาต่อกับอาจารย์ กิมเส็ง ครูทองท่านสนใจเรียนมวยมาก เมื่ออาจารย์ กิมเส็ง ให้ถือดาบไม้และให้ลองเล่นกับท่านดูโดยบอกว่า ก็เล่นเหมือนกับเล่นมวย นั้นแหละ ลองอยู่สักพัก อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็บอกว่า ใช้ได้นี่ ด้วยเหตุนี้ ครูทอง จึงไม่ได้เรียนดาบ


กับอาจารย์กิมเส็ง ซึ่งครูมักพูดว่าเสียดายอยู่เสมอๆ (แต่ครูทองก็มีความรู้เรื่อง การฟันดาบอยู่ไม่น้อย) เรียนอยู่สัก ๓ ปี อาจารย์กิมเส็ง ท่านก็สิ้น ครูทองได้มาช่วยเพื่อนชื่อไหว สอนมวยอยู่ราชบูรณะ และเริ่มสอนมวยอย่างจริงจัง เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่ ย่านบางนา มีทหารเรือมาฝึกกับท่านจำนวนมาก ครูทองจึงได้ไป ขออนุญาต อาจารย์เขตร ว่าจะสอน ครั้นพูดจบอาจารย์เขตร ท่านก็เหวี่ยงแข้งเตะมาที่ครูทองทันที ครูทองก็รับปิดป้อง ว่องไว ตามที่ได้เรียนมา อาจารย์เขตร จึงว่า อย่างนี้สอนได้ และได้ให้ครูทองมาเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

.....ครูทอง ท่านใช้ ชื่อค่ายมวยว่า "ค่ายศรีสกุล" ต่อมาใช้ "ค่ายสิงห์ทองคำ" แต่ซ้ำกับค่ายอื่น ท่านจึงไปกราบขอชื่อ ค่ายมวยจากอาจารย์เขตร ซึ่งก็ได้รับความกรุณาโดยอาจารย์ได้ตั้งชื่อให้ว่า " ค่ายไชยารัตน์ "ด้วยเหตุว่าครั้งเรียน วิชามวยไชยากับ อาจารย์เขตร ศิษย์ทุกคนจะใช้สกุลในการขึ้นชกมวยว่า " เชื้อไชยา " ครูทอง มีลูกศิษย์ หลายรุ่น แต่ละรุ่นท่านก็สอนไม่เหมือนกัน บางคนจะชกมวยสากล บางคนจะชกมวยไทยเวที ท่านจะสอนแตกต่างกัน ตามโอกาส

.....จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ครูทอง ท่านได้ไปเผยแพร่มวยไทยคาดเชือกที่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า และได้พบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว อาวุธไทย ได้ขอท่านเรียนมวย แรกๆก็ไปเรียนที่บ้านครู แต่ระยะหลังจึงได้เชิญ ครูทองท่านมาสอนที่มหาวิทยาลัย และครูได้เริ่มสอนแบบโบราณ คาดเชือกด้วยเห็นว่า ท่าย่างสามขุมของดาบ นั้นเป็นแนวเดียวกับการเดินย่างของมวยคาดเชือก จนถึง พ.ศ.๒๕๒๗ นักศึกษาจุฬา ( เคยฝึกอาวุธไทยที่ รามฯ )ได้เชิญครูท่านไปเป็น อาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

ครูทอง จึงได้ถ่ายทอด ศิลปะมวยคาดเชือก สายไชยา ในสองสถาบัน จนพ.ศ.๒๕๓๗ จึงหยุดด้วยโรคประจำตัว ครูทองหล่อ ยาและ ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง ๖๗ ปี ในเวลาเช้า ๘.๔๕ น. ของวันที่ ๑๙ กันยายนพ.ศ. ๒๕๓๙

ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย



.....ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย สืบตระกูลมาจากนักรบโดยลำดับดังนี้

.....พระยาชุมพร (ซุ่ย ซุ่ยยัง) ตาทวด (พ่อของย่า) เป็นแม่ทัพไทยตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีมาขึ้นประเทศไทย
ปลายรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๗ มีลูกเขยชื่อปานซึ่งได้เป็นที่พระศรีราชสงคราม

.....พระศรีราชสงคราม (ปาน ) ปลัดเมืองไชยา (เป็นปู่) มีลูกชายชื่อขำ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ รับใช้
สอยในสำนักสมเด็จเจ้าาพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นหลวงสารานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาเมื่ออายุ ๒๕ ปี

.....หลวงสารานุชิต (ขำ ศรียาภัย) ได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระศรีราชสงคราม ปลัดเมืองไชยา (แทนบิดาซึ่งถึงแก่กรรม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒

.....พระศรีราชสงคราม (ขำ ศรียาภัย) ได้ช่วยปราบจีนจลาจลที่เมืองภูเก็ตในคราวเดียวกันกับหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดฉลอง ซึ่งพวกจีนติดสินบน หัว ๑๐๐๐ เหรียญ จีนจลาจลแตกพ่ายหนีกระจัดกระเจิงลงเรือใบใหญ่ ออกทะเล จึงได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อยศเป็น พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยา พ.ศ.๒๔๒๒ พวกจีนจลาจลที่ภูเก็ตหนีลงเรือแต่ไม่กลับเมืองจีน ได้เที่ยวปล้นตามหัวเมือง ชายทะเล ตั้งแต่ปลายอณาเขตไทย ทางใต้จนถึงเมืองเกาะหลัก คือประจวบคีรีขันท์ เรืองรบหลวง ๒ ลำ มีกำลังพล ๒๐๐ ต้องประจำรักษาเมืองภูเก็ต จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองทำการปราบปราม เวลานั้นพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองไชยา แต่มีหน้าที่รักษาเมืองชุมพร และ กาญจนดิษฐ์ ด้วย ได้คิดสร้างลูกระเบิดมือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวบรวมพลอาสาออกปราบปรามโจรจีนสลัดในอ่าวไทยเป็นเวลา ๓ ปี
โจรจีนสลัดสงบราบคาบ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆเป็นบำเหน็จโดยลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม เพื่อประกาศความดีความชอบที่ได้สร้างลูกระเบิดมืออันเป็นอาวุธแปลกไม่เคยเห็นกันในสมัยนั้น

.....ต่อมาอีก ๗ ปี คือวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น พระยาวจีสัตยารักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จนกระทั่งวันถึงแก่กรรม วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๕๗

.....เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

.....เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลหนองช้างตาย (ต.ท่าตะเภา ในปัจจุบัน) อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ในสมัยเด็กอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรง ทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตีจับ ฯลฯ ได้เป็นที่ ๑ ในชุดวิ่งเปรี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม มีชื่อทางวิ่งเปรี้ยวแต่นั้นมา

ได้ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่า โรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า ๓ เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องทนมือทนตีนอยู่ ๓ ปี อันเป็นปฐมเหตุแห่งความพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม ๑๒ ท่าน คือ
๑. พระยาวจีสัตยารักษ์ ( ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา -บิดาบังเกิดเกล้า
๒. ครูกลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี -อา
๓. หมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง )
๔. ครูกลับ อินทรกลับ
๕. ครูสอง ครูมวยบ้านนากะตาม อำเภอท่าแซะ
๖.ครูอินทร์ สักเดช ครูมวยบ้านท่าตะเภา
๗. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
๘. ครูสุก เนตรประไพ ครูมวยบ้านแสงแดด
๙. ครูวัน ผลพฤกษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะโป
๑๐. อาจารย์ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
๑๑. ครู (กิมเส็ง)สุนทร ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนคร อาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
๑๒. อาจารย์ หลวงวิศาลดรุณากร

.....เมื่ออายุ ๑๙ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อาจารย์ เขตร ได้ไปดูการฝึกมวยที่บ้าน อาจารย์กิมเส็ง และเกิดความสนใจใน " หงายหมัด " ของค่ายทวีสิทธิ์ อีกหนึ่งปีต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ อาจารย์เขตร จึงได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า และขันน้ำ ไปกราบขอเป็นศิษย์กับ อาจารย์กิมเส็ง ในวัน พฤหัสบดีอันเป็น " วันครู " ตามคติโบราณ ได้อยู่ร่ำเรียนรับใช้ ไปมาหาสู่กับ อาจารย์กิมเส็ง เป็นเวลา ๔๐ ปี จนครูท่านสิ้น จึงนับได้ว่าวิชามวยไชยาสายอาจารย์เขตร นั้นมีส่วนผสมวิชามวยของท่านอาจารย์กิมเส็ง อยู่อย่างแยบยลจนแยกกันไม่ออก

.....นอกจากการเล่นกีฬา หมัดหมวย ฟุตบอล และ วิ่งแข่ง กระโดดสูงกระโดดยาว รวมทั้งมวยสากลกับมองซิเออร์ ฟโรว์ นักมวยคู่ซ้อมของยอร์ช กาปังติเอร์ แล้ว เขตร ศรียาภัยยังสามารถ แจวเรือพายและถือท้ายเรือยาว (เรือดั้ง เรือแซง) เรือยนต์ เรือกลไฟ ขับรถยนต์ ขี่มอเตอร์ไซ รวมทั้งการขี่ม้า ขี่และฝึกช้างตามแบบที่เรียกว่าคชกรรมอีกด้วย

..... ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๔ อาจารย์เขตร ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งสนามมวยธรรมศาสตร์ ขึ้นแทนสนามมวยราชดำเนินที่ไม่มีหลังคากันฝน ล่วงถึง ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ จึงได้เข้าเป็นผู้จัดการ สนามมวยลุมพินี อยู่หลายปี จนช่วงอายุ ๖๙-๗๐ ปี คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการ และอาจารย์ สงบ สอนสิริ จึงได้ชักชวนให้ท่านเขียน " มวยไทยปริทัศน์ " ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เล่าถึงเรื่องมวยคาดเชือกในยุค สนามสวนกุหลาบ สนามมวยหลักเมืองสนามมวยสวนสนุก เกร็ดความรู้เรื่องมวยไทย และความรู้เรื่องมวยของชนชาติอื่นๆ จนได้รับการยอมรับและได้รับการ เรียกขาน ท่านเป็น " ปรมาจารย์ " มวยไทย อาจารย์เขตร ศรียาภัย ถึงแก่กรรม ด้วยโรคหัวใจ ล้มเหลว เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑ สิริอายุรวม ๗๕ ปี

ิอาจารย์ กิมเส็ง ทวีสิทธ์



.....หากจะกล่าวถึง มวยไชยา แล้วไม่กล่าวถึง อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ก็คงจะทำให้ ประวัติมวยไชยา ขาดหายไปบางส่วน อาจารย์กิมเส็ง ท่าน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๓ ยานนาวา กรุงเทพฯ ช่วงอายุ ๑๔ ปีท่านได้เดินทางไปศึกษาที่ สิงคโปร์ และเริ่มเรียน ยูโด ฟันดาบ มวยสากล ที่นั้น จนได้พบกับ มร.เบเก้อร์ เจ้าของร้านขนมปัง ซึ่งเป็นครูมวยสากลฝีมือดี ได้สอนด้านทฤษฏีและปฏิบัติของ N.S.Rule จนทำให้อาจารย์กิมเส็ง มีความรู้ความชำชาญ ในมวยสากล เป็นอย่างมาก

.....และอาจารย์ท่านยังได้เรียน วิชามวยไทย ดาบไทย จากครูเขียว ในป่าเขตแดนสระบุรีกับอยุธยาอยู่ ๒ ปี จึงทำให้อาจารย์เชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้ของไทยมากขึ้น (นอกจากวิชาที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์ยังมีความรู้ใน วิชามวยชวาของชาวอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า " เพนต์จ๊าก " มวยจีน "เก่ยคุ้ง "

และ ยูยิตสู การจับหักของชาวญี่ปุ่น อีกด้วย จากข้อเขียน ของ อ.เขตร์ ) ช่วงอายุ ๒๕ ปี จึงได้เริ่มชกมวยไทย หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ก็เริ่มสอนมวยไทยและสากล ที่บ้านข้างวัดดอน ยานนาวา มีลูกศิษย์มากมายชกชนะมากกว่าแพ้ ลูกศิษย์ท่านได้เป็น ทั้งแชมป์มวยไทยมวยสากลก็มากจนเกิดเป็น " คณะทวีสิทธิ์ "

.....พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๒ พระยาคทาธรบดี ได้เริ่มจัด สนามมวยสวนสนุกขึ้นภายในบริเวณ สวนลุมพินี และได้ชักชวนให้อาจารย์ กิมเส็งดำเนินการจัดมวย และเป็นกรรมการ จึงทำให้ชื่อเสียงของ อาจารย์กิมเส็ง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

.....ช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๗ กระทรวงธรรมการ( กระทรวงศึกษาธิการ )จึงได้เชิญ อาจารย์กิมเส็ง เข้าสอนวิชามวยที่โรงเรียนของกระทรวง แต่งตั้งเป็น อาจารย์พละของกรมพละศึกษากลาง มีลูกศิษย์มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่สอนมวยและเปิดค่ายมวย ก็มาก จึงทำให้ " ท่ารำพรหมสี่หน้า " กับ " ท่าย่างสุขเกษม " แพร่หลายกลายเป็นมรดก ที่เห็นนักมวยไทยใช้รำบนเวทีกันอยู่จนทุกวันนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ " หงายหมัด " ซึ่ง อาจารย์ เขตร์ ท่านได้กล่าวไว้ว่า " ผิดแผกกับการตั้งท่าของมวยภาคต่างๆทั่วประเทศ " ท่าหมัดหงายไม้มวยนี้ได้เลือนหายไปจากเวทีมวยไทยปัจจุบัน อาจารย์กิมเส็ง( สุนทร ทวีสิทธิ์ ) ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฏคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริอายุรวม ๗๒ ปี

พระยาวจีสัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยา

.....พระยาวจีสัตยารักษ์ เดิมชื่อ ขำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ตรงกับรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ นายขำมีบุตร ๕ คน คือ ชื่อ ศรียาภัย พระยาประชุมพลขันธ์ นายจวน นายเขต และนางเฉลิม

.....นายขำ ศรียาภัย ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ได้ฝึกหัดราชการอยู่ในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม นายขำเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี และเป็น ผู้มีความรู้ความชำนาญ หลายด้าน เช่น การค้าขาย การจับ และฝึกหัดช้าง และยังมีความสามารถในการพูดภาษาจีน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการติดต่อ ค้าขายเป็นอย่างมาก จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชานุชิต ผู้ช่วยราชการเมืองไชยา ในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๑๒

.....ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีราชสงคราม ปลัดเมืองไชยา และดำรงตำแหน่งนี้ เป็นเวลา ๑๐ปี มีความชอบจากการไปปราบจลาจลชาวจีนที่เมืองภูเก็ต จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทิพยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕

.....พ.ศ. ๒๔๒๒ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดี ผู้ว่าราชการเมืองไชยา ทำความดีความชอบจนได้รับ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มัณฑยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่๓ นิภาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่๓ เหรียญดุษฎีมาลา

.....พ.ศ.๒๔๒๒ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑล พระยาวิชิตภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์ จางวางเมืองไชยา

.....พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวจีสัตยารักษ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลสุราภรณ์ มงกุฎสยาม ชั้นที่๒ และเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นเกียรติยศ

.....เนื่องจากพระยาวจีสัตยารักษ์ เป็นผู้ชำนาญเกี่ยวกับหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พระยาวจีสัตยารักษ์จึงได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเสด็จ และเมื่อมีทางรถไฟสายใต้ ได้เป็นผู้นำตรวจทางรถไฟสายใต้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่มณฑลปัตตานี ถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณงามความดีอันเป็นประโยชน์อีกมากมาย

.....พระยาวจีสัตยารักษ์ และบุตรหลานได้สร้างคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์มิใช่เฉพาะแต่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น
หากแต่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย

.....พระยาวจีสัตยารักษ์เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รวมอายุได้ ๗๐ปี ปัจจุบันมีสถูปซึ่งบรรจุอัฐิของท่านและบุตรหลานในตระกูลศรียาภัย ณ เมืองไชยา(เก่า) ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พ่อท่านมา ปฐมครูแห่งมวยไชยา

.....ประวัติของท่านนั้นไม่มีการกล่าวหรือบันทึกไว้มากนักทราบเพียงว่า พ่อท่านมาเป็นครูมวยใหญ่ ทีเดินทางมายัง เมืองไชยา (บางก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก หรือ แม่ทัพ ออกบวช และธุดงค์มาจากกรุงเทพฯ) เมื่อราว๑๖๕ ปีมาแล้ว สมัย ร.๓ ตอนปลาย ท่านเชี่ยวชาญวิชาการต่อสู้และมีวิชาอาคม แก่กล้า เคยมีเรื่องเล่าว่ามีช้างตกมันอาละวาด ไม่มีผู้ใดปราบได้ พ่อท่านมาได้บริกรรมคาถาแล้วใช้กะลามะพร้าวครอบจับช้างเชือกนั้นไว้ ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดขึ้นที่ท้องทุ่งแห่งนั้นขนานนามว่า วัดทุ่งจับช้าง

.....ศิลปะมวยของท่านได้รับการถ่ายทอด สืบต่อ สู่ชาวเมืองไชยาและครูมวยต่อมาอีกหลายๆท่าน นับแต่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ปฐมศิษย์เบื้องต้นผู้เป็นครูมวยของหมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง ) ครูนิล ปักษี ครูอินทร์ ศักดิ์เดช โดยเฉพาะ หมื่นมวยมีชื่อ ที่ได้รับราชทานนามนี้จาก ล้นเกล้าในรัชกาลที่ ๕ นับเป็นเกียรติแก่ เมืองไชยา ยิ่งนัก

.....แม้ทุกวันนี้ยังมีนักมวย นักศึกษาและประชาชนเดินทางไปกราบไหว้ และรำถวายมือ หน้าเจดีย์บรรจุอัฐิพ่อท่านมา วัดทุ่งจับช้าง อำเภอพุมเรียง สุราษฎร์ธานี อยู่เสมอ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงพ่อไสว อินทะวังโส ได้มาอยู่จำพรรษาที่วัด และดูแลพัฒนา บริเวณวัด สร้างหลังคากันแดดฝนคลุมรักษา สถูปบรรจุอัฐิพ่อท่านมาไว้ โดยมี ชาวบ้าน และคุณยายท่านหนึ่ง ซึ่งมีศักดิ์เป็น หลานสาวของท่าน ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ได้ร่วมกันบำรุงรักษาวัดอยู่ ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้ข่าวว่า หลวงพ่อไสว จะเดินทางไปจำวัดอยู่ที่นครศรีธรรมราช เป็นที่น่าเสียดาย วัดทุ่งจับช้าง ก็คงจะเป็นวัดร้าง ไร้การดูแลอีกครั้ง

หมื่น มวย

.....สมัย ร.๕ ในงานพระเมรุ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระเมรุป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ ได้จัดให้มีการตีมวยหน้าพระที่นั่งครั้งใหญ่ เจ้าเมืองจากหัวเมือต่างๆได้จัดส่งนักมวยของตนลงแข่งขัน และได้มีนักมวยฝีมือดีอยู่ ๓ คน ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หมื่น" อันได้แก่

๑. หมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) มวยไชยา
.....ถนัดใช้ท่า เสือลากหาง เข้าทุ่มทับจับหักคู่ปรปักษ์
๒. หมื่นมือแม่นหมัด (กลิ้ง ไม่ทราบนามสกุล) มวยลพบุรี
.....ถนัดใช้หมัดตรง และหลบหลีก รุกรับ ว่องไว
๓. หมื่นชะงัดเชิงชก (แดง ไทยประเสริฐ) มวยโคราช
.....ถนัดใช้ท่า หมัดเหวี่ยงควาย ที่รุนแรง คว่ำปรปักษ์

.....จนมีคำกล่าวผูกเป็นกลอนว่า " หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา " จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นนักมวยในสมัยนั้น ได้รับการยกย่องมาก เพราะบ้านเมืองสนับสนุน และเมืองที่มีมวยฝีมือดีก็จะได้รับการยกย่องให้เป็น " เมืองมวย " มวยไชยา นั้นเป็นที่นิยมแพร่หลาย ในเขตภาคใต้ตั้งแต่ ชุมพร หลังสวน ลงมาโดยมีเมืองไชยาเป็นศูนย์กลาง และยังมีครูมวยอีกหลายท่านที่มีชื่อเสียงมากมาย

เมืองไชยา


.....เมืองหน้าด่าน ในการค้าขายและการรบทางฝ่ายใต้ และยังเป็นเขตอิทธิพลของไทยนับแต่สมัยอยุธยารุ่งเรืองมาช้านาน ในเมืองไชยาจะมีการจัดตั้ง กองมวย ขึ้นหลายกอง จนถึง ยุคศาลาเก้าห้อง สนามมวยวัดพระบรมธาตุไชยาฯ จัดสร้างโดย ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองไชยาและครูมวย คือพระยาวจีสัตยารักษ์( ขำ ศรียาภัย ) มีกองมวยสำคัญอยู่ ๔ กอง คือกองมวยพุมเรียง กองมวยบ้านเวียง กองมวยปากท่อ กองมวยบ้านทุ้ม(ทุ่ง) ในแต่ละกองจะมี นายกอง ๑ คน
.
....
กองมวย จะได้รับสิทธิ์พิเศษ ต่างๆเช่น ได้รับการยกเว้นภาษีรัชชูปการ จะไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน แต่คนในกองมวยจะต้องหมั่นฝึกซ้อมมิให้ขาด เมื่อทางการเรียกให้ไปตีมวยที่ใด จะต้องพร้อมเสมอ และนักมวยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงทุกวันที่ไปชก ตามลำดับความสำคัญ ผู้ใดที่ย่อหย่อนในการฝึกซ้อมจะถูก นายกอง คัดชื่อออกและเสียสิทธิ์ที่ได้รับไปด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า การเป็น นักมวย ในสมัยนั้น นับว่ามีเกียรติและศักดิ์ สูงกว่าสามัญชน

ประวัติ มวยไทยไชยา

.....มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.๕ คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

.....ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ.๒๔๖๔ (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร. ๕) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.๖ นั้นมีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย

สัจจะ ๘ ข้อ

ที่ศิษย์ทุกคน ต้องรับต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร,ปาจรีย์ และต่อหน้าครู ในวันมอบตัวเป็นศิษย์
.....๑. ข้าพเจ้า จะเคารพรัก เชื้อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของบิดามารดา ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ
.....๒. ข้าพเจ้า จะรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
.....
๓. ข้าพเจ้า จะประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งกาย วาจา จิตใจ และอ่อนน้อมถ่อมตน
.....
๔. ข้าพเจ้า จะบำรุงกำลังกาย ให้สะอาดแข็งแรง และดำรงชีวิต ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์
.....
๕. ข้าพเจ้า จะไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ร่วมรักสามัคคีในหมู่พวกเดียวกัน และช่วยเหลือกันเมื่อช่วยได้
.....
๖. ข้าพเจ้า จะบำเพ็ญกรณีย์เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และชาติ
.....
๗. ข้าพเจ้า จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ อันไม่สงบ
.....
๘. ข้าพเจ้า จะดำรงค์ไว้ซึ่ง ระเบียบแบบแผน อันเป็นประเพณีแห่งมวยไชยา และอาวุธไทย พิชัยยุทธ์ ไว้อย่างเคร่งครัด

.....ศิษย์ทุกคน ขอระลึกบูชาคุณ ครูผู้เป็น ครูของครู อาจาร์ของอาจารย์ ผู้สั่งสม สืบสาย ถ่ายต่อ วิชามวยไทยโบราณ สายไชยา มิให้สูญหายไปจากแผ่นดินสยาม และด้วยคุณความดีที่ท่านได้กระทำไว้นั้น บัดนี้ อนุชนรุ่นหลังทั้งหลายได้เรียนรู้ ได้ศึกษา จรรรงค์ให้คงอยู่วัฒนา ซึ่งวิทยาแห่งมวยไทยไชยา สืบต่อไป

มูลนิธิมวยไทยไชยา

.....มูลนิธิมวยไทยไชยา เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งความพยายามที่จะ อนุรักษ์ เอกลักษณ์ มวยไทยคาดเชือก แบบโบราณ สายไชยา ที่มีความเป็นศิลปศาสตร์วิทยาการ อันได้รับการสั่งสม สืบสาย ถ่ายทอดมาแต่เดิม จากครูอาจารย์ผู้มีคุณวุฒิ โดยคงความเป็น พาหุยุทธ์ศิลป์ ใน ฉุปศาสตร์ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งต่อมรดกทางการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ในอีกสายวิชาหนึ่ง ที่ยังคงเหลืออยู่

.....หนทางแห่งชัยชนะของนักมวยคาดเชือก ในความพยายามที่จะรักษาศาสตร์แห่งวิชามวยโบราณเอาไว้นั้น เลือนลางลงทุกที นับแต่มีการประกาศเลิกคาดเชือก (๒๔๖๘) จวบจนปัจจุบันสมัย (๒๕๔๗) ด้วยระยะเวลาไม่ถึง ๘๐ปี นับแค่เพียงชั่วหนึ่งอายุคนเท่านั้น มูลนิธิมวยไทยไชยา เพียงหวังว่าคงจะยังไม่สายเกินไป ที่จะนำ พาหุยุทธ์วิทยา นี้ให้กลับมา เพื่อคนไทยทั้งชาติได้รู้จัก ได้ศึกษา สืบค้น ด้นไปถึงรากเหง้าความเป็นมาแห่งภูมิปัญญาบรรพชน ดั่งที่ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย และครูทอง เชี้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ) ได้มุ่งมั่น เพียรพยายามที่จะทำให้ แม่ไม้ ลูกไม้ กลมวย อันเป็นศิลปศาสตร์การต่อสู้ สายมวยไทยไชยา ยังยืนยงคงอยู่ อวดภูมิรู้ คู่ผืนแผ่นดินสยามประเทศ สืบต่อไป.

เมือง "มวย"

.....ลุล่วงสู่ รัชสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ชนชาวสยาม เป็นปึกแผ่น รวมเขตแดน รวมแผ่นดินได้มากแล้ว แต่ยังไม่ว่างเว้น จากศึกสงครามใหญ่น้อย ภัยรอบบ้าน เรื่องการฝึกปรือ กลมวย เพลงดาบ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติที่สำคัญ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไป ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จึงได้เกิด สำนักมวย สำนักดาบ ขึ้น แม้แต่ในพระมหาราชวัง ก็ยังมีการเรียนการสอน กระบี่กระบอง วิชามวย และพิชัยสงคราม อันเป็นหลักสูตรสำคัญ

.....โดยเฉพาะมวยไทย ที่มีรูปแบบการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นชนชาติอิสระ และมีภูมิปัญญา วิชามวย ก็ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค กันออกไปอย่างเด่นชัด ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย โดยหลักใหญ่แบ่งได้ตามภูมิภาค คือ

.....ภาคเหนือ มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง ฯลฯ มวยท่าเสา เป็นมวยเชิงเตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา จนได้ฉายา มวยตีนลิง คาดเชือกประมาณครึ่งแขน

.....ภาคอีสาน มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยโคราช ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง นิยม คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง

.....ภาคกลาง มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี ลักษณะการชก ต่อย วงใน เข้าออกรวดเร็ว เน้นหมัดตรง การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน

.....ภาคใต้ มวยไชยา ฯลฯ มวยไชยา ลักษณะการรุก-รับ รัดกุม ถนัดการใช้ศอกในระยะประชิดตัว การคาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น

มวย "ไท"


มวย “ไท” มีมาแต่ใด? คำถามที่หาคำตอบได้ยากที่สุด แต่ ก็ไม่เกินเลย สติ ปัญญา ของ ครูบาอาจารย์ผู้เฒ่า ท่านได้เฉลย คำถามที่ยากที่สุด ด้วยคำตอบที่ง่ายที่สุด ว่า.... “มวยไท ก็มีมา ตั้งแต่มี คนไท ไงละ” เป็นคำตอบแบบ กำปั้นทุบดิน ที่ตรงและคม สมเป็นครูมวย

.....ซึ่งหากนับย้อน ประวัติศาสตร์การสร้างชาติ รวมเผ่าชาวสยาม อันมีความหมายรวมถึง กลุ่มคนที่อาศัย อยู่ในภูมิภาคนี้ โดยมิได้ระบุเรื่อง เชื้อชาติ หากแต่มุ่งกล่าวถึง ระบบสังคม, การเมือง, ศาสนา, วัฒนธรรม, อักษร ภาษา และรูปแบบการต่อสู้ “มวย” โดยมีอารยะธรรมหลักที่มีอิทธิพล คือ อินเดียตอนใต้ ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ที่หลอมรวมกันของ ชนเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เกิดเป็น สัญชาติเดียวแต่หลากหลาย เชื้อชาติและเรียกตนเอง โดยรวมว่า "ชาวสยาม"

.....จากเส้นทางประวัติศาสตร์ คงพอจะมองย้อนไปได้ถึง กลุ่มแคว้นใหญ่ หลายแคว้นที่กระจัดกระจายตัวกันอยู่ บนผืนแผ่นดินที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญ ตลอดแนวจากเหนือถึงใต้ ของ ประเทศไทย ในปัจจุบัน สร้างสังคม ประสมประสาน ผ่านศึกรบ ร่วมสงครามกัน ผลัดเปลี่ยนอำนาจ สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นโดยแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ

.....๑. กลุ่มแคว้นเก่า ได้แก่ ตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช, นครชัยศรี-สุวรรณภูมิ, ละโว้-อโยธยาศรีรามเทพนคร(อยุธยา), และหริภุญชัย

.....๒. กลุ่มแคว้นใหม่ ได้แก่ โยนก, สุโขทัย, แพร่, น่าน, และล้านช้าง ฯลฯ

.....ที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้ นับว่าพอเพียงแก่การสืบค้นว่า ชาวสยาม หมายรวมถึง คนไท มีมาแต่เมื่อไหร่ อยู่ที่นี้ หรือมาจากที่ไหน? พัฒนาการต่อสู้ของตนมาอย่างไร คงต้องให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่จะ ถกหาคำตอบ ให้กับคำถามนี้ต่อไป...

ณัลล์ชย วีถี

ตลอดเส้นทาง แห่งชัยชนะของนักรบ นักมวย นักสู้ชาวสยาม หลายชั่วอายุคน นับเนื่องแต่มีการรวบรวมชนเผ่าไท ให้เป็นปึกแผ่น ลงหลักปักฐานแน่น บนพื้นแผ่นดิน สยาม นี้ ที่มีบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษาและเชิดชู ถึงความมุ่งมั่น พากเพียร ความกล้าหาญ และการเสียสละของบรรพชนไทยเหล่านั้นแล้ว

ขอกล่าวสรรเสริญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระนเรศวรมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช และพระมหากษัตริย์ไทย ทุกๆพระองค์ ตลอดจนถึงสามัญชน วีรชน วีรสตรีผู้กล้าอีกหลายท่านที่ได้เคยสร้างวีรกรรม อันยิ่งใหญ่ ทำคุณประโยชน์ ให้กับชาติ บ้านเมือง เป็นที่เคารพนับถือยิ่งต่อชนทั้งหลาย ทั้งวีระชนนิรนาม และวีระชนระบือนาม อันจะยกตัวอย่าง ได้แก่

สามัญชนผู้หาญกล้า นายทองดี นักมวยฟันขาวแห่งบ้านหันคา อำเภอทุ่งยั้ง เมืองพิชัย ผู้มีฝีมือ มวยและดาบ เป็นเลิศ เคยอาสาสู้ศึกปกป้องแผ่นดิน จนได้สมญาว่า พระยาพิชัยดาบหัก ทหารหาญกล้าคู่พระทัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๑๖)

และนายขนมต้ม ผู้ที่ได้ใช้ วิชามวย สร้างชื่อไว้หน้าประวัติศาสตร์ของสองชาติ ผู้เป็นเสมือน “บิดาแห่งมวยไทย” ในวันที่ ๑๗ มีนาคมของทุกปีถือเป็น “วันมวยไทย” ตามตำนานการชนะปรปักษ์ของท่าน(๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๗)

หากกล่าวถึง วงการมวยไทย การชุมนุมนักมวย ครั้งสำคัญ ครั้งหนึ่งของแผ่นดินสยามนี้ คือ การแข่งขันชกมวย ณ สนามมวยสวนกุหลาบ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๖๕) จัดขึ้นเพื่อหาเงินซื้อปืนให้กับกองเสือป่า ใน สมัยรัชกาลที่ ๖ เหตุการณ์นี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง การชกมวยไทยแบบอาชีพขึ้น จากกองมวยตามหัวเมือง หมู่บ้าน สู่นักมวยในจวนท่าน โดยมี สมุหเทศาภิบาล และข้าหลวงตามหัวเมืองต่างๆ เป็นผู้จัดหานักมวยที่มีฝีมือดี คัดเลือกตัวส่งเข้าสู่ การเข้าแข่งขันชกมวย ในพระมหานคร

นักมวยมากหน้าหลายตา ต่างชั้นต่างระดับฝีมือ ได้เดินทางรอนแรม มาจนสุดเส้นทางสายการต่อสู้ มีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ บ้างก็ปักหลักอยู่ในเมืองหลวงรับราชการ บ้างก็กลับบ้านเดิมทำไร่ไถ่นา ในบรรดานักมวยที่เข้ามาแสวงโชคและชื่อเสียง ในครั้งครานั้น ต่างได้แสดงรูปลักษณ์ลีลา ความสามารถในเชิงมวย ซึ่งเป็นแบบฉบับ เฉพาะหมู่ เฉพาะภาค ของตนออกมา ให้เป็นที่ประจักษ์ใน พาหุยุทธ์วิทยา อันบ่งบอกความเป็นชาติไท เลือดนักสู้ ผู้มีศิลปะการต่อสู้ประจำชาติตน คือ “มวย”

และนักมวยผู้ที่สร้างชัยชนะให้กลายเป็นตำนาน ผู้เปลี่ยนเส้นทางวงการมวยคาดเชือก ให้พลิกผันไปตลอดกาล คือ นายแพ เลี้ยงประเสริฐ หนึ่งในนักมวย ๕ ใบเถา จากบ้านท่าเสา เมืองอุตรดิตถ์ ผู้ที่ชก นายเจีย แขกเขมร (เจีย พระตะบอง) มวยฝีมือดีจากแถบชายแดนตะวันออก ด้วยสืบทิ่มหมัดหงาย เข้าที่ลูกกระเดือกในท่า หนุมานถวายแหวน อันลือลั่น จนนายเจียถึงกับหมดสติ และสิ้นใจในเวลาต่อมา เป็นเหตุการณ์สำคัญ ยุค สนามมวยหลักเมือง (ร.๗ พ.ศ. ๒๔๖๘) ภายใต้กฏกติกาการชกมวยคาดเชือก ด้วยมีมาตราหนึ่งใน พระธรรมนูญลักษณะเบ็ดเสร็จบัญญติ ไว้ว่า

อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กฏกติกา ตลอดจนมีการบังคับให้สวมนวมแบบสากล และสวมถุงเท้า ในการชกต่อยมวยไทย อันเป็นผลให้วิทยาการ มวยคาดเชือกอย่างโบราณสมัย ต้องย่อหย่อนเสื่อมถอย ความเป็นศิลปศาสตร์ลง อย่างน่าเสียดาย