Monday, June 4, 2007

ลักษณะของดาบเมือง


ดาบเมืองมีหลายขนาด และหลายรูปแบบ ต่อไปนี้เป็นรายละเอียด ส่วนต่าง ๆ ของดาบเมือง



ฝักดาบ

.....ฝักดาบ คือเครื่องห่อหุ้มตัวดาบ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้พาพา และสามารถสะพายดาบ ไปไหน ๆ ได้โดยสะดวก ฝักดาบเป็นที่ผูกยึดติดกับสายดาบสำหรับคล้องไหล่สะพายบ่า และนอกจาก นี้ กล่าวกันว่ายังใช้เป็นอาวุธในยามต่อสู้ได้อีกด้วย ฝักดาบทำด้วยไม้สองชิ้น ที่มีลักษณะ และขนาด ความกว้างไล่เลี่ยกับความกว้างของตัวดาบ นิยมใช้ไม้ที่มีน้ำหนักเบา เหนียว และคงรูป เช่น ไม้โมกมัน ไม้สัก เป็นต้น โดยเฉพาะไม้โมกมัน เป็นไม้ที่ไม่กินคมดาบ มีน้ำหนักเบา และเมื่อใช้ไปนาน ๆ ผิวไม้ จะมันวาว สวยงาม
เมื่อนำไม้มาประกบกันแล้ว ส่วนโคนจะเป็นลำกลม มีขนาดใกล้เคียงกับด้ามดาบตรงส่วนที่ติด กับ กระบังดาบ หรือเขี่ยว แล้วค่อย ๆ เพรียวไปทางปลาย ตามลักษณะของตัวดาบ ไม้ด้านในของฝักจะถูก เซาะร่องให้เป็นรูปดาบ มีขนาดไล่เลี่ยกับตัวดาบ เมื่อนำมาประกบกันแล้ว โคนฝักจะเป็นรูปลิ่ม ความกว้าง รูปลิ่มดังกล่าวจะกว้างกว่าท้องดาบ เพื่อให้สามารถสอดดาบเข้าฝักได้โดยสะดวก เมื่อประกบไม้เข้าด้วยกัน แล้วจะพัน หรือสวมทับด้วยวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้คงรูป เช่น ใช้แถบโลหะ หรือห่วงเส้นทางมะพร้าว หรือ หวาย หรือเสื้อเขือง (ปาล์มประเภทหนึ่ง) มีลักษณะคล้ายวงแหวน เรียกว่า ปอบหรือปลอก มีปลอกสาม หรือปลอกห้า สวมทับเข้าไป บางฝักจะใช้เชือก หรือผ้าพันทับแล้วลงรัก ส่วนปลายฝักจะตอกตะปู หรือ หมุดยึดไว้ ตรงโคนฝักเป็นส่วนที่จะสัมผัสกับคมดาบจะใช้ปลอกโลหะหุ้มรัดไว้ หรือใช้หนังสัตว์พันรอบแล้วพันทับ ด้วยสายดาบให้มั่นคงแข็งแรง

.....ฝักดาบยศ ดาบประจำตำแหน่งบางเล่มจะหุ้มด้วยโลหะมีค่า เช่นทองคำ หรือเงิน เรียก ดาบหลูบคำหลูบเงิน มีทั้งที่ตกแต่งลวดลายดวงดอกงดงาม หรือเป็นทองเกลี้ยงเงินเกลี้ยง ลวดลายและ วิธีการทำฝักจะสัมพันธ์กับด้ามดาบด้วย กล่าวคือเมื่อสอดดาบเข้าฝักแล้ว ดาบทั้งเล่มจะกลมกลืนกันเป็นชิ้นเดียวไม่มีลักษณะแปลกแยกด้านเทคนิคและฝีมือ



ด้ามดาบ

.....ด้ามดาบ คือส่วนที่กั่นดาบฝังลงไปยึดแน่นและใช้เป็นที่จับเพื่อใช้งาน ดาบเมืองที่เป็นดาบใช้มักทำด้วย ไม้ไผ่รวก ปล้องยาวเพียงปล้องเดียว แต่บางท่านว่าใช้ไม้ไผ่หก ไผ่บงป่า ไผ่ไล่ ไม้ไผ่ไล่นี้เอาเคล็ดที่ชื่อ คือไล่ ศัตรูพ่าย ส่วนโคนด้าม คือส่วนที่สัมผัสกับโคนดาบ หรือส่วนที่มี ปลอกโลหะหรือเขี่ยว มีทรงกลม มีขนาดใกล้เคียง หรือเท่ากับโคนฝัก แล้วเหลาให้เพรียวลงถึงส้นด้าม ดาบเมืองโดยเฉพาะ ดาบใช้ ไม่นิยมทำเขี่ยว จะใช้ปลอกหวายสวมทับให้แน่นทีละปลอก โดยสวมเข้าทางส้นแล้วเรียงลำดับ ให้แน่นเรียวลงมาถึงส้น ใช้แผ่นโลหะทรงกลม หรือ เหรียญสตางค์แดง หรือเงินแถบ หรือเหรียญอื่น ๆ ปิดส้นแล้วตอกตะปูยึดเพื่อป้องกันไม่ให้ปลอกหลุด ถ้าเป็นดาบชาวลัวะจะทำปลอกเงินสวมปิด นิยมตอก ลวดลายเป็นรูปปลาสลิก เช่นเดียวกับปลายฝักจะเป็นรูปปลาสลิกเช่นกัน บางเล่มใช้ลิ่มตอกเข้าตรงรูกลวง ส้นด้าม เพื่อให้ด้ามขยายขนาด จะทำให้ปลอกรัดแน่นขึ้น แต่หากรัดปลอกแน่นดีแล้วก็ไม่ต้องตอกลิ่ม ใช้เพียงแผ่นโลหะปิด มีดาบบางเล่มบรรจุเครื่องรางของขลังในรูกลวงไม้ไผ่ เช่น ผ้ายันต์ แผ่นยันต์โลหะม้วนลงอักขระ เศษผ้าคล้ายจีวรอัดด้วยขี้ผึ้งหรือขี้ชันโรง คงเป็นวิธีการเฉพาะของเจ้าของดาบเล่นนั้น ๆ อาจไม่ใช้ขนบโดยทั่วไป

.....ด้ามดาบนอกจากทำจากไม้ไผ่แล้ว ยังทำจากสิ่งอื่นอีก เช่น ไม้เนื้อแข็งหรือไม้จริง งา กระดูกสัตว์ เขาสัตว์ ด้ามที่ทำจากวัสดุดังกล่าวนี้มักเป็น ดาบยศ ดาบขนาดเล็ก หรือมีดพก มีดอุ่ม ต้องมีเขี่ยวหรือปลอก สวมเพื่อยึดกั่นกับด้ามและเพื่อกันไม่ให้ด้ามแตก บางเล่มตกแต่งและแกะลวดลาย เป็นรูปต่าง ๆ งดงาม เช่น รูปหนุมาน พระพิฆเนศ หรือดอกดวงอย่างวิจิตร นักสะสมดาบและพ่อค้าของโบราณกล่าวว่า เป็นงานฝีมือของช่าง ชาวไทใหญ่ รัฐฉาน บ้างก็ว่าเป็นฝีมือชาวเผ่าลัวะ ด้ามดาบยศวิจิตรงดงามนี้มักแต่งด้วยปลอกเงินส้นด้ามมีหัวบัวประดับทุกส่วน จะหุ้มเงินเว้นแต่ ที่ต้องการอวดคือ งา หรือเขา เท่านั้น ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าแต่งด้ามได้งดงามเท่าใด ฝักก็ต้องตกแต่งให้งดงามเสมอกัน ดังนั้นดาบยศงดงามวิจิตร จึงเป็นของหายากและแพงค่ายิ่ง การยึดกั่นกับด้ามให้มั่นคงแข็งแรงนั้น หากด้ามเป็นไม่ไผ่จะมีรูโดยธรรมชาติสำหรับสอดกั่นเข้าไป ถ้าเป็นไม้จริง งา หรือเขา ต้องเจาะรูเพื่อยึดกั่น แต่มักทำได้ยากจึงต้องอาศัยเขี่ยวหรือปลอกสวมยึดให้มั่น การเข้าด้ามดาบด้วยการเผาไฟให้ร้อนพอประมาณ ตำครั่งจนเป็นผงเทใส่รูด้ามจนเต็มนำกั่นร้อนสอดเข้าไปแล้วถอดออก ใส่ครั่งอีกครั้งให้เต็มเผากั่นใส่ลงไป จับด้ามดาบให้อยู่ทรงในตำแหน่ง ที่พอเหมาะรอจนเย็นก็ใช้การได้ บางด้ามจะใช้ผ้าเนื้อดีบุในรูก่อนจะเทผงครั่งลงไป แล้วทำตามขั้นตอนดังที่กล่าวมา การใช้ผ้าบุข้างในเพื่อให้ด้าม กับกั่นยึดแน่นคงทนหลุดยาก ดาบบางเล่มจะมีฝาครอบโคนด้าม โดยเจาะรูเฉพาะให้กั่นฝังลงไป งเพื่อความเรียบร้อยสวยงามและกันไม่ให้ครั่งหลุด

เหล็กดาบ


.....เหล็กที่ใช้ทำดาบต้องเป็นเหล็กเนื้อดีมีความแข็งและเหนียว เล่ากันว่าต้องหลอมไล่ตะกรันเป็นอย่างดีมีพิธีกรรมประกอบ และเหล็กต้องมี ส่วนผสม อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความขลัง บ้างก็ว่าต้องตีทบไปมาหลายร้อยครั้งเพื่อให้เนื้อเหล็กเป็นเส้นจะทำให้เหล็กเหนียวเป็นพิเศษ คำเล่าขาน ดังกล่าวนี้ยังไม่มี หลักฐานยืนยันชัดแจ้ง แต่การจะตีเหล็กเพื่อทำดาบเป็นอาวุธเพื่อใช้ในการต่อสู้นั้น คงต้องคำนึงถึงคุณภาพเหล็ก อย่างแน่นอน ถ้าเหล็กไม่ดีเปราะ หักง่ายหรือไม่ใช่เหล็กกล้า เมื่อประดาบหรือฟันถูกของแข็งเกิดการเสียหายในขณะรณยุทธ์ ก็หมายถึงชีวิตเลยทีเดียว เหล็กดีที่ได้รับการกล่าวถึง มากที่สุดคือ เหล็กน้ำพี้ หรือเหล็กหนึกจากบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เหล็กน้ำพี้ดังกล่าวนี้ ไม่เป็นสนิม มีสีเขียวเหมือนปีกแมลงทับ แต่การจะถลุงเหล็กให้ได้เหล็กสำหรับทำดาบนั้นเป็นเรื่องยาก อีกทั้งเหล็กน้ำพี้ จะสงวนไว้สำหรับทำพระแสงดาบ หรืออาวุธสำคัญในราชสำนักทางใต้เท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะหาเหล็กน้ำพี้มาใช้ทำดาบเรือนหรือดาบใช้ทั่วไป ส่วนบ่อเหล็กในเขตจังหวัด เชียงใหม่ นั้นเล่าว่าอยู่ที่บ่อหลวง อำเภอฮอด แต่เป็นเหล็กคุณภาพต่ำนิยมนำมาตีเป็นเครื่องในครัวเรือนและการเกษตร ส่วนดาบที่ทำจากจังหวัด ลำปาง ซึ่งมักเรียกขานกันว่า ดาบลำปางสมัยหลังสงครามโลก .....

.....ดาบเมืองโดยเฉพาะที่ปรากฏในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จากาการศึกษาของธีรศักดิ์ ญาณสาร(๒๕๓๒) พบว่า ราวร้อยละแปดสิบเป็นดาบที่หาซื้อมา จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ทีทั้งเดินทางไปซื้อและมีพ่อค้าจากรัฐฉานนำมาขาย มีบางส่วนที่รับตีดาบตามสั่งทำ และนอกจากนี้น่าจะมีดาบจาก ภาคกลาง หรือจากประเทศลาวเข้ามาขายด้วย ดาบที่ซื้อมาจากภาคกลางจะมีรูปแบบเฉพาะ กล่าวคือ มีท้องดาบ ปลายดาบแหลม คนล้านนา เรียกขาน ดาบชนิดนี้ว่า ดาบไทย ฯลฯ

ตัวดาบ


.....ตัวดาบ หรือใบดาบเมืองนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่ามีความยาวประมาณหนึ่งศอกถึงสองศอก หรืออาจยาวกว่านี้ ส่วนความกว้างนั้นก็ประมาณ สองถึงสามนิ้วมือ ความกว้างของดาบแต่ละเล่มจะขึ้นอยู่กับลักษณะของปลายดาบ กล่าวคือถ้าเป็นดาบใบคา คือมีลักษณะคล้ายใบคา ดาบจะแคบมาก ถ้าเป็นดาบปลายบัว ตัวดาบจะกว้าง และถ้าเป็นดาบปลายว้าย ก็จะไต่ระดับความกว้างจากแคบไปกว้างจนถึงปลายดาบ โดยปกติโคนดาบต้อง แคบและหนากว่าท้องดาบก่อนจะเรียวแหลมเป็นปลายดาบ สันดาบหนาตั้งแต่โคนดาบแล้วเพรียวบางจนถึงปลาย ดาบบางเล่มสันดาบจะคม เช่นเดียวกับด้านคม เมื่อมองทางด้านข้าง ปลายดาบจะเชิดขึ้นซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของดาบ ส่วนจะเชิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะ ของปลายดาบ ดังจะได้กล่าวต่อไป

.....ตัวดาบโดยปกติจะไม่มีการตกแต่งลวดลายใด ๆ เป็นพิเศษ มีดาบบางเล่มที่ตกแต่งตัวดาบงดงาม กล่าวคือมีการแต่งเป็นร่อง นิยมเรียกกันว่า ร่องเลือด เป็นร่องลึกพอให้เห็นเป้นแนวยาวจากโคนดาบสู่ปลายดาบ บางเล่มมีร่องเลือดเหมือนกันทั้งสองด้าน หรือแต่งเป็นลวดลายทำนองลายกนก แต่ไม่อ่อนช้อยดังลายเส้น บางเล่มฝังทองแดงหรือทองเหลืองที่ตัวดาบ สันดาบมีทั้งสันเรียบและสันสามเหลี่ยม ดาบสันเรียบบางเล่มที่สันจะฝังทองแดงหรือทองเหลืองด้วย หรือไม่ก็ทำเป็นรอยขีดหลาย ๆ ขีด ดาบบางเล่มที่ตัวดาบใกล้โคนจะประทับตราคล้ายกับเป็นสัญลักษณะทางการค้า หรือสัญลักษณ์ของเตาที่ทำดาบ เท่าที่พบมีหลายแบบ เช่น รูปดอกจัน รูปพระอาทิตย์ รูปพระอาทิตย์คู่ รูปเต่า รูปดวงตา มีทั้งประทับตราด้านเดียวและทั้งสองด้าน หรือประทับตราสองแห่งด้านเดียวกัน

ปลายดาบ


.....ลักษณะของปลายดาบแต่ละแบบเป็นการกำหนดการเรียกขานชื่อดาบนั้น ๆ ด้วย เช่น ดาบปลายว้าย ดาบปลายบัว เป็นต้น การตีดาบแต่ละเล่มผู้ตี คงต้อง กำหนดแบบไว้แล้ว ลักษณะของปลายดาบต้องพ้องกับประโยชน์การใช้สอย ดาบเมืองโบราณทั้งดาบยศและดาบใช้เท่าที่ได้พบเห็น ปลายดาบ มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

.....๑. ดาบปลายเหลี้ยม ดาบปลายซุย หรือ ดาบปลายแซว ปลายดาบจะแหลมคม เน้นประโยชน์การแทงละลุ ฟัน และเฉือน มีลักษณะต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับตัวดาบ คือ
.....๑.๑ ปลายเหลี้ยม ปลายซุย หรือปลายแซว ด้านสันดาบจะเชิดขึ้นเล็กน้อย ทั้งตัวดาบและท้องดาบเพรียวคล้ายมีดพก ถ้าท้องดาบกว้าง ๆ มักเรียกขานว่า ดาบไทยปลายเหลี้ยม
.....๑.๒ ปลายเหลี้ยมใบข้าว หรือปลายใบข้าว เรียกดาบใบข้าว ตัวดาบมีลักษณะเหมือนใบข้าว โคนเล็กท้องดาบกว้างพอประมาณ ส่วนปลายดาบจะตรงและแหลม
.....๑.๓ ปลายเหลี้ยมใบคา หรือปลายคา เรียกดาบใบคา ตัวดาบมีขนาดเล็กแคบเสมอกันตั้งแต่โคนดาบถึงปลายดาบ เรียวเหมือนใบหญ้าคา

.....๒. ดาบปลายว้าย เป็นดาบที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากดาบไทย ตัวดาบตั้งแต่โคนถึงปลายมีความกว้างเสมอกัน สันดาบตรงปลายเชิดขึ้นเล็กน้อย ด้านคมก็เชิดขึ้นตาม เน้นประโยชน์การฟันและเฉือน ดาบปลายว้ายอีกลักษณะหนึ่งซึ่งพบเห็นน้อยมากคือ ปลายว้ายหัวแม่โต้คือปลายดาบมีขนาด ความกว้างกว่าโคน เชิดขึ้นคล้ายกับมีดอีโต้ เน้นการฟัน เพราะน้ำหนักจะอยู่ส่วนปลายดาบ

..... ๓. ดาบปลายบัว ดาบปลายมน หรือดาบหัวบัว เป็นดาบที่เน้นความสวยงามและการฟัน มี ๒ ลักษณะ คือ
.....๓.๑ ปลายบัว ปลายดาบคล้ายดอกบัวตูม หรือกลีบดอกบัว ตัวดาบมีขนาดความกว้างเสมอกันทั้งเล่ม หรือโคนดาบเล็กกว่าปลายดาบเล็กน้อย คล้ายาดาบจีน แต่ปลายดาบจะมนกว่า
.....๓.๒ ปลายบัวหัวเหยี่ยน หรือดาบหัวเหยี่ยน ปลายดาบมีลักษณะคล้ายส่วนหัวของ
ปลาไหล (เหยี่ยน=ปลาไหล) โคนดาบมีขนาดเล็กกว่าปลายดาบ แล้วค่อยกว้างขึ้น ส่วนปลายด้านสันเชิดขึ้นเล็กน้อย ถ้าปลายมนปลายดาบมักทำเป็นสองคม

..... ๔. ดาบปลายเปียง หรือดาบปลายตัด ดาบชนิดนี้ตัวดาบมักมีขนานกว้าง ส่วนปลายซึ่งปกติจะแหลมกลับมีลักษณะเหมือนถูกตัดหรือดาบหัก เน้นประโยชน์การฟัน เล่ากันว่าเป็นดาบของชาวเชียงใหม่ยุคพม่าปกครอง พม่าเกรงว่าชาวเชียงใหม่จะคิดกบฏจึงตัดปลายดาบทิ้ง ขนบการทำดาบปลายเปียงจึงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

เชือกดาบ หรือสายดาบ

..... เชือกดาบหรือสายดาบมีความสำคัญต่อาการพกพาดาบไปยังที่ต่าง ๆ ได้โดยสะดวก เชือกดาบมีหลายขนาดและหลายสี เส้นโตที่สุดประมาณ เท่านิ้วมือ และมีขนาดอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของดาบ เชือกดาบเท่าที่พบมีสีแดงสีดำ กล่าวกันว่าแต่เดิมสีของเชือกดาบอาจหมายถึงหมู่ หรือเหล่าของทหารก็เป็นได้ เชือกดาบทำจากผ้าคล้ายผ้ายืดแล้วยัดเศษผ้าหรือเส้นด้ายไว้ด้านในนุ่ม ๆ ทำเป็นเส้นยาว ๆ ทำนองเดียวกับการทำ ไส้กรอก สายดาบมักมาคู่กับฝักดาบ เดชา เตียงเกตุ (สัมภาษณ์ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๔) กล่าวว่า น่าจะทำจากพม่า ผลิตในโรงงานเฉพาะ เพราะเศษผ้า และเส้นด้ายนั้นเป็นผ้าเทศด้ายเทศ ไม่ใช่ลักษณะของผ้าฝ้ายปั่นมือในท้องถิ่น การมัดเชือกดาบกับฝักทำได้หลายวิธี เช่นมัดสำหรับสะพายไหล่ หรือมัดสำหรับสะพายหลัง ดาบเมืองเท่าที่พบเป็นการมัดเพื่อสะพายบ่าหรือคล้องไหล่ ปมเชือกต้องอยู่ตรงข้ามกับคมดาบเสมอ นอกจาก

ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เชือกดาบยังช่วยรัดฝักดาบไม่ให้คลายแยกออกเมื่อปลอกหวายหลุด และยังป้องกันคมดาบ บาดมือขณะถอดดาบออกจากฝักอีกด้วย

..... เชือกดาบแบบเดิมที่ติดมากับดาบเมืองในปัจจุบัน (๒๕๔๕) ไมมีขาย มีแต่เชือกอย่างอื่นที่คล้าย ๆ กันเป็นไนล่อน หรือไหมพรมถัก ไม่อ่อนนุ่มเหมือนเชือกดาบแบบเดิม หรือเป็นเชือกไม่มีไส้ต้องนำมาฟั่นเองถึงจะใช้ได้ ส่วนดาบใหม่ที่นิยมทำกันในเขตจังหวัดลำปางจะฟั่นเชือกดาบเอง แต่ก็ไม่เหมือนเดิม เรียกการสานเชือกมัดดาบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรืองสีของเชือกดาบว่าสีใดต้องโฉลกกับเจ้าของที่เกิดในปีนั้น ๆ ด้วย (ดูรายละเอียดที่ โศลกดาบ) ส่วนดาบยศที่ฝักหุ้มเงินหุ้มทองมักไม่มีเชือกดาบ คงเพราะไม่ต้องการสะพายดาบก็เป็นได้

คัดมาจากส่วนหนึ่งของ หนังสือ ดาบเมือง โดย อาจารย์ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง
สำนักพิมพ์ ปิรามิด พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๗
*ขอขอบพระคุณ อาจารย์วิลักษณ์ ที่ได้เอื้อเฟื้องานเขียน มา ณ ที่นี้ด้วย
ขอขอพระคุณกับรูปภาพประกอบจากเวป ThaiBlade.com ด้วยครับ

Friday, June 1, 2007

ตัวอย่างภาพยนต์ พาหุยุทธ์-Pahuyut



พาหุยุทธ์ หนังไทยจากค่าย โมโนฟิลม์ ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ของไทยโบราณครับ โดยทางศูนย์ศึกษาก็ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาในส่วนของวิชาการต่อสู้ในแบบ พาหุยุทธ์ มวยไชยา สำหรับคอหนังแอ็คชั่น ต่อสู้ ก็คงถูกใจกันนะครับ แต่หนังเรื่องนี้ยังสอดแทรกอะไรหลายๆอย่างไว้ด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่ความตื่นเต้นเร้าใจ จากบทแอ๊คชั่นอย่างเดียว ขณะนี้ยังไม่ทราบตารางการฉายนะครับหากทราบแล้วจะแจ้งอีกทีครับ